การพบกันระหว่างสองผู้นำโลกยุคใหม่อย่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. ณ กรุงมอสโก ถือเป็นการเดินทางเยือนรัสเซียครั้งแรกนับตั้งแต่ปธน.สี เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซียใช้ปฏิบัติการทางทหารในยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกหมายจับปธน.ปูติน ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม จึงถือว่าเป็นการพบกันที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง
มิตรภาพไร้ขีดจำกัด
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ผู้นำจีนได้ให้การต้อนรับผู้นำรัสเซียเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ณ กรุงปักกิ่ง ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันโดยมีใจความสำคัญว่า มิตรภาพของทั้งสองประเทศนั้น “ไร้ขีดจำกัด” ทว่าจุดยืนดังกล่าวถูกท้าทายอย่างรวดเร็วเมื่ออีก 20 วันต่อมา รัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ส่งผลให้จีนตกที่นั่งลำบากเพราะไม่อาจหันหลังให้มิตรประเทศอย่างรัสเซีย แต่ก็ต้องไม่สนับสนุนออกนอกหน้าเกินไปจนงานเข้าประเทศตัวเอง
ด้วยเหตุนี้ แม้จีนไม่ได้จัดหาอาวุธให้กับรัสเซียในการทำสงครามยูเครน แต่จีนก็ให้ความช่วยเหลือแก่รัสเซียในรูปแบบของการช่วยพยุงเศรษฐกิจในขณะที่รัสเซียถูกสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรทั้งหลายคว่ำบาตรอย่างหนัก โดยข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนระบุว่า มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับรัสเซียพุ่งขึ้นถึง 34.3% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.9 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565 ขณะที่นายจาง ฮั่นฮุย เอกอัครราชทูตจีนประจำรัสเซีย กล่าวว่า “เราเชื่อว่าการค้าจีน-รัสเซีย จะพุ่งทำนิวไฮในปี 2566 โดยเรามุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าที่ระดับ 2 แสนล้านดอลลาร์ ตามเป้าหมายที่ผู้นำของทั้งสองประเทศได้กำหนดไว้”
การรักษาท่าทีของจีนไม่ได้บั่นทอนมิตรภาพของทั้งสองประเทศแต่อย่างใด โดยปธน.ปูติน ได้เปิดทำเนียบเครมลินต้อนรับปธน.สี อย่างอบอุ่น พร้อมกับเรียกปธน.สีว่าเป็น “สหายที่รัก” และโปรยคำหวานด้วยการยกย่องการขยายตัวของจีนภายใต้การนำของปธน.สี และระบุว่ารัสเซียรู้สึก “อิจฉาเล็กน้อย” ต่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีน ส่วนปธน.สีได้เรียกปธน.ปูตินว่าเป็น “สหายที่รัก” เช่นกัน
กาวใจ
ในฐานะที่จีนมีความสัมพันธ์ฉันมิตรทั้งกับรัสเซียและยูเครน ปธน.สี ได้ก้าวเข้ามารับบท “กาวใจ” ในการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้ง โดยปธน.สี ระบุว่า จีนเชื่อว่ายิ่งเผชิญอุปสรรคมากเท่าใด ความจำเป็นในการรักษาพื้นที่สำหรับสันติภาพก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น และยิ่งความขัดแย้งรุนแรงมากเท่าใด ก็ยิ่งไม่สามารถละทิ้งความพยายามในการเจรจาได้ โดยจีนจะยังคงดำเนินบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการสนับสนุนการแก้ปัญหาทางการเมืองในประเด็นยูเครนต่อไป ด้านปธน.ปูติน ก็แสดงความเข้าอกเข้าใจต่อท่าทีดังกล่าว โดยกล่าวว่ารัสเซียยกย่องจีนที่รักษาจุดยืนอันเป็นกลาง อิงกับความเป็นจริง และมีความสมดุลเสมอมา รวมถึงยืนหยัดเพื่อความเป็นธรรมและความยุติธรรมในประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ
มีกระแสคาดการณ์ว่าภายหลังเสร็จสิ้นการเยือนรัสเซีย ผู้นำจีนอาจต่อสายตรงถึงประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานาน ทั้งนี้ จีนเพิ่งรับบทเป็นคนกลางในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ทำให้ทั้งสองประเทศกลับมาสานสัมพันธ์ทางการทูตกันอีกครั้ง ซึ่งนายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า ความสำเร็จของจีนในการสานสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านไม่เพียงพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการเจรจาสันติภาพเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในยูเครนได้เช่นเดียวกัน
ศัตรูคู่แค้น
ในขณะที่จีนพยายามเป็นตัวกลางคลี่คลายความขัดแย้ง ทางฝั่งสหรัฐซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนยูเครนก็อดไม่ได้ที่จะออกมาขัดแข้งขัดขา โดยนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ออกมาเตือนว่า “โลกไม่ควรถูกหลอกด้วยกลอุบายใด ๆ ของรัสเซียที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนหรือประเทศอื่น ๆ เพื่อหยุดสงครามโดยมีเงื่อนไข” และกล่าวว่าข้อเสนอดังกล่าวของจีนจะไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน โดยเป็นเพียงการทำให้ปธน.ปูตินสามารถปรับกำลังทหารรัสเซียและเริ่มสงครามใหม่อีกครั้งในช่วงเวลาที่รัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบมากกว่า
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นก็ออกมารับลูกสหรัฐทันที โดยนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น แอบเดินทางเยือนยูเครนเมื่อวานนี้ (21 มี.ค.) โดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า เพื่อหารือกับปธน.เซเลนสกีที่กรุงเคียฟ และได้เชิญผู้นำยูเครนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G7 ที่เมืองฮิโรชิมาในเดือนพ.ค.นี้ด้วย ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวใคร ๆ ก็มองว่าเป็นการตั้งใจ “ตัดหน้า” ผู้นำจีนที่คาดว่าจะต่อสายตรงถึงผู้นำยูเครนหลังเสร็จสิ้นการเยือนรัสเซีย ที่สำคัญคือ การที่นายคิชิดะเดินทางไปเยือนยูเครนซึ่งกำลังเผชิญความเสี่ยงด้านความปลอดภัยนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติสำหรับผู้นำญี่ปุ่น และถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดในการสนับสนุนผู้นำยูเครน
ยิ่งไปกว่านั้น นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ออกมาเตือนจีนมิให้จัดส่งอาวุธร้ายแรงให้แก่รัสเซียเพื่อใช้ในการสู้รบกับกองทัพยูเครน ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าจีนทำเช่นนั้น โดยเขากล่าวว่า “เรายังไม่พบหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับการที่จีนจัดส่งอาวุธที่มีความรุนแรงไปยังรัสเซีย แต่เราเริ่มเห็นสัญญาณว่ารัสเซียกำลังเรียกร้องเรื่องดังกล่าวต่อจีน และจีนกำลังพิจารณาในเรื่องนี้อยู่ แต่เราขอเตือนจีนว่าอย่าได้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการทำสงครามที่ผิดกฎหมายของรัสเซีย”
การกระทำของสหรัฐและบรรดาพันธมิตรเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับสิ่งที่นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน เคยกล่าวไว้ว่า “สหรัฐไม่ต้องการให้สงครามสิ้นสุดลง สหรัฐต้องการและทำทุกอย่างเพื่อให้สงครามดำเนินต่อไป”
กระชับสัมพันธ์
แรงกดดันคือปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอนได้ แต่ไม่ใช่สำหรับจีนและรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันจากสหรัฐและพันธมิตร ทั้งสองประเทศยังคงเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์อย่างรอบด้าน โดยปธน.ปูติน กล่าวกับปธน.สี ว่า รัสเซียพร้อมให้การสนับสนุนภาคธุรกิจของจีนในการเข้ามาลงทุนในรัสเซีย เพื่อทดแทนบริษัทของชาติตะวันตกที่ได้ถอนตัวออกไปหลังรัสเซียปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ขณะเดียวกัน ทางปธน.สี ก็ได้เชิญปธน.ปูติน เดินทางเยือนจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือนานาชาติตามข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ครั้งที่ 3 ในปีนี้ และยังได้เชิญนายมิคาอิล มิชุสติน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ให้เดินทางเยือนจีนเช่นกัน อีกทั้งยังเสนอให้มีการจัดประชุมร่วมกันเป็นประจำระหว่างนายกรัฐมนตรีของจีนและรัสเซียอีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองยังได้หารือกันเกี่ยวกับโครงการท่อส่งก๊าซพาวเวอร์ ออฟ ไซบีเรีย 2 (Power of Siberia 2) ซึ่งสามารถส่งก๊าซธรรมชาติให้จีนได้ถึง 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีผ่านทางมองโกเลีย เพื่อให้จีนมาเป็นลูกค้าทดแทนยุโรปซึ่งระงับการซื้อก๊าซจากรัสเซีย ขณะที่สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (CCTV) ของทางการจีนรายงานว่า ในปี 2565 รัสเซียส่งออกก๊าซธรรมชาติมายังจีนผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-รัสเซีย เส้นทางตะวันออก (China-Russia Eastern Gas Pipeline) ในปริมาณ 1.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2566 นี้
รัสเซียเป็นประเทศแรกที่ปธน.สี เดินทางไปเยือนหลังจากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และเขาเดินทางเยือนรัสเซียรวม 8 ครั้งตลอดทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผู้นำจีนและรัสเซียยังได้พบกันมากถึง 40 ครั้งในโอกาสต่าง ๆ ทั้งระดับทวิภาคีและระดับโลก สำหรับการเยือนรัสเซียของปธน.สี ครั้งล่าสุดนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 9 นอกจากจะมีการหารือเกี่ยวกับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-รัสเซีย ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระหว่างประเทศและภูมิภาคที่มีความสำคัญแล้ว ยังเป็นการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจีนยังคงอยู่เคียงข้างรัสเซียในฐานะ “มหามิตร” ในขณะที่รัสเซียถูกโดดเดี่ยวและถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศ ดังเช่นที่นายจาง ฮั่นฮุย เอกอัครราชทูตจีนประจำรัสเซีย กล่าวไว้ว่า “ยิ่งโลกวุ่นวายมากเท่าใด การก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงของความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น” โดยจีนและรัสเซียต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การสร้างโลกหลายขั้วอำนาจและลบล้างอำนาจของสหรัฐที่ครอบงำโลกมานาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 66)
Tags: In Focus, จีน, รัสเซีย, วลาดิเมียร์ ปูติน, สี จิ้นผิง