นับตั้งแต่สหรัฐและกองกำลังจากชาติพันธมิตรเริ่มถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในช่วงเดือนพ.ค. ทางกลุ่มตาลีบันก็ได้เริ่มเปิดฉากสู้รบกับรัฐบาลอัฟกานิสถานเพื่อช่วงชิงประเทศอัฟกานิสถานในทันทีก่อนที่จะสำเร็จในวันอาทิตย์ที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยนายอัชราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ได้หลบหนีออกจากประเทศ
ภาพที่ประชาชนนับไม่ถ้วนในสนามบินกรุงคาบูล ภาพที่ประชาชนแย่งกันขึ้นเครื่อง หรือพยายามเกาะเครื่องที่กำลังบินขึ้นจนตกลงมาตาย ต่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการขึ้นสู่อำนาจเด็ดขาดของกลุ่มตาลีบัน ซึ่งก็สร้างความกังวลและคำถามมากมายให้กับประชาคมโลกว่า เหตุใดกลุ่มตาลีบันจึงสามารถทำสงครามยึดอัฟกานิสถานได้รวดเร็วเพียงนี้ และอนาคตของอัฟกานิสถานจะเป็นเช่นไร
นอกจากนี้ การคอร์รัปชันของรัฐบาลอัฟกานิสถานและความอ่อนแอของกองทัพอัฟกานิสถานก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้ต่อกลุ่มตาลีบันอย่างรวดเร็ว โดยแจ็ค วัตลิงก์ นักวิจัยจากสถาบันบริการรอยัลยูไนเต็ด (RUSI) แห่งลอนดอนระบุว่า กองทัพอัฟกานิสถานไม่มีการบัญชาการที่มีประสิทธิภาพ ผู้นำไม่รู้ว่ามีทหารในหน่วยตัวเองเท่าใด อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ชำรุดหรือสูญหาย และทหารที่ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ทหารบางส่วนยินยอมที่จะขายอาวุธให้กลุ่มตาลีบันเพื่อแลกกับเงิน และบางส่วนถึงกับหนีทหาร ทำให้จำนวนทหารที่ทางการประกาศออกมาเป็นเพียงตัวเลขลอยๆ และนั่นนำไปสู่อีกหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุด คือความไม่เต็มใจที่จะต่อสู้
วัตลิงก์ระบุว่า หนึ่งในสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการยึดอัฟกานิสถานที่รวดเร็วของกลุ่มตาลีบันก็คือ มีการต่อต้านจากทางกองทัพอัฟกานิสถานน้อยมาก ทหารจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลว่าจะสามารถช่วยเหลือหรือปกป้องพวกเขาหรือคนในครอบครัวจากกลุ่มตาลีบันได้ ดังนั้นเมื่อกลุ่มตาลีบันยื่นข้อเสนอให้ยอมจำนนเพื่อความปลอดภัย ก็มีทหารมากมายที่เลือกทางดังกล่าว
นอกจากนี้ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองรายหนึ่งของสหรัฐก็ได้ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรมีความเข้าใจอัฟกานิสถานน้อยเกินไป โดยระบุว่า อัฟกานิสถานประกอบไปด้วยชนเผ่า ภาษา วัฒนธรรม และศาสนาที่หลากหลาย ซึ่งทางสหรัฐและพันธมิตรก็พยายามจะเปลี่ยนให้เป็นประเทศประชาธิปไตยตามมุมมองของตะวันตก
เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุว่า ความเข้มแข็งของกลุ่มตาลีบันคือการที่พวกเขาเป็นชาวพาชตูน (Pashtun) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน ขณะเดียวกันสหรัฐและพันธมิตรสนับสนุนการรวมตัวกันของชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้มีความสามารถจะรวมประเทศเข้าด้วยกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
“ปธน.กานีเคยกล่าวว่ากองทัพอัฟกานิสถานจะสู้ แต่เห็นได้ชัดว่าเขาคิดผิด หากตอนนี้อัฟกานิสถานไม่สามารถต้านทานกลุ่มตาลีบันได้ ไม่ว่ากองทัพสหรัฐจะคงอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไปอีก 1 ปี 5 ปี หรือ 20 ปี ก็ไม่ได้ทำให้มีความแตกต่างอะไรนัก” ปธน.ไบเดนกล่าวเสริม
เมื่อครั้งที่ตาลีบันครองอำนาจในช่วงปี 2539-2544 กลุ่มตาลีบันได้ตั้งหนึ่งในรัฐบาลที่เข้มงวดที่สุดในโลกขึ้น โดยมีการประหารผู้คนต่อหน้าสาธารณะ, การประหารด้วยการขว้างหินใส่จนตาย, การใช้กฎหมายชารีอะห์ที่เข้มงวด, ห้ามผู้หญิงทำงาน, ห้ามเด็กหญิงเข้าเรียน, ผู้หญิงต้องปิดบังใบหน้าและต้องมีญาติฝ่ายชายไปด้วยหากต้องการออกนอกบ้าน ขณะที่ผู้ชายถูกห้ามเล็มหนวดเครา
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในบางเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบันก็มีการปกครองที่เข้มงวดขึ้น บางอย่างคล้ายกับเมื่อช่วงปี 2539-2544 เช่น สตรีต้องใส่ชุดคลุมปกปิดทั้งตัวหรือ บูร์กา (Burka) และหากออกนอกบ้านต้องมีผู้ชายพาไปด้วย สั่งผู้ชายห้ามโกนหนวดเครา และห้ามตัดผมแบบตะวันตก ขณะที่ครูผู้ชายจะสามารถสอนนักเรียนชายได้เท่านั้น และครูผู้หญิงจะสามารถสอนนักเรียนหญิงได้เท่านั้น
แม้สงครามระยะเวลาเกือบ 20 ปีในอัฟกานิสถานได้สิ้นสุดลงแล้วด้วยชนะอย่างเด็ดขาดของกลุ่มตาลีบัน แต่คงเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าจากนี้ไปอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบันจะเดินหน้าไปในทิศทางใด กลุ่มตาลีบันจะรักษาสัญญาหรือไม่ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ และหวังว่าพวกเขาจะรักษาสัญญานั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 64)
Tags: NATO, กรุงคาบูล, คอร์รัปชัน, ตาลีบัน, บอริส จอห์นสัน, สงคราม, สหประชาชาติ, สหรัฐ, อังกฤษ, อัชราฟ กานี, อัฟกานิสถาน, โจ ไบเดน