บังกลาเทศอยู่ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรี ชีค ฮาสินา ซึ่งเป็นบุตรีของชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ มานานถึง 15 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าว บังกลาเทศมีการพัฒนาอย่างชัดเจนในหลากหลายด้าน ทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากมาย ขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากรก็เพิ่มขึ้นถึงสามเท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกว่า มีเพียงผู้สนับสนุนและผู้ใกล้ชิดกับพรรครัฐบาลเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
*โควตางานภาครัฐ ชนวนเหตุการลุกฮือ
รัฐบาลบังกลาเทศมีนโยบายสงวนตำแหน่งงานภาครัฐ 30% ไว้สำหรับลูกหลานของ “นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ” ในสงครามประกาศเอกราชจากปากีสถานเมื่อปี 2514 อย่างไรก็ดี นายกฯ ชีค ฮาสินา ได้ประกาศยกเลิกระบบโควตาดังกล่าวไปเมื่อปี 2561 หลังเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ แต่เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลสูงกรุงธากาได้ตัดสินให้นำระบบดังกล่าวกลับมาใช้ตามเดิม โดยสงวนตำแหน่งงานภาครัฐ 30% ไว้สำหรับลูกหลานของ “นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ” และอีก 26% สำหรับ “กลุ่มเปราะบาง” ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากหนุ่มสาวชาวบังกลาเทศราว 18 ล้านคนกำลังดิ้นรนหางานทำ โดยเฉพาะบัณฑิตมหาวิทยาลัยยิ่งหางานทำยากเมื่อเทียบกับผู้ที่มีการศึกษาน้อยกว่า ในแต่ละปี บัณฑิตจบใหม่ราว 400,000 คน ต้องแย่งชิงตำแหน่งงานภาครัฐที่มีโควตาเพียง 3,000 ตำแหน่ง และนี่คือชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่
*การประท้วงอย่างสงบ สู่ความรุนแรงทั่วประเทศ
การประท้วงเริ่มขึ้นด้วยความสงบในหมู่นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนกระทั่งวันที่ 15 ก.ค. ในขณะที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยธากากำลังชุมนุมอย่างสันติ ทันใดนั้นก็ถูกโจมตีโดยกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธเป็นท่อนไม้และกระบอง และบางคนมีปืนพก ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง การโจมตีในลักษณะคล้ายคลึงกันก็เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยกลุ่มคนที่เชื่อว่าเป็นสมาชิกเครือข่ายของพรรคสันนิบาตอวามี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่กำลังปกครองประเทศ ก่อให้เกิดความโกรธแค้นอย่างมากในหมู่นักศึกษา ขยายไปสู่ประชาชนทั่วไป กลายเป็นการปะทะกันอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมในบางพื้นที่ ในขณะที่รัฐบาลได้สั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ ระงับบริการอินเทอร์เน็ตและการส่งข้อความ ส่งกำลังทหารไปประจำการในบางพื้นที่ รวมถึงประกาศเคอร์ฟิว
*สั่งลดโควตางานภาครัฐ หวังคลี่คลายปัญหา
การประท้วงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในวันที่ 19 ก.ค. เพียงวันเดียว มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 ราย ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมทะลุ 100 ราย ขณะที่สถานการณ์ไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง ต่อมาในวันที่ 21 ก.ค. ศาลสูงสุดของบังกลาเทศจึงประกาศลดโควตางานภาครัฐ โดยมีคำสั่งให้ 93% ของงานภาครัฐต้องเปิดรับผู้สมัครตามความเหมาะสม ส่วนโควตาสำหรับลูกหลานของ “นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ” ลดลงเหลือเพียง 5% และที่เหลืออีก 2% สงวนไว้ให้กลุ่มอื่น ๆ ซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศภายใต้การนำของนายกฯ ชีค ฮาสินา ประกาศว่าจะปฏิบัติตามคำตัดสินของศาล ส่งผลให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย โดยรัฐบาลได้กลับมาเปิดสัญญาณโทรคมนาคมบางส่วนอีกครั้ง และเริ่มผ่อนปรนเคอร์ฟิว
*ยกระดับการชุมนุม กดดันนายกฯ ลาออก
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ชุมนุมได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ขอโทษที่ปราบปราบประชาชนด้วยความรุนแรง กลับมาเปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ต เปิดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอีกครั้ง รวมถึงปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม การชุมนุมดำเนินไปจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ และเป้าหมายของผู้ชุมนุมยกระดับเป็นการกดดันให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตในการชุมนุม ส่งผลให้การประท้วงกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยในวันอาทิตย์ (4 ส.ค.) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย ซึ่งเป็นยอดเสียชีวิตวันเดียวที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับการประท้วงอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ของบังกลาเทศ และส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมจากการประท้วงครั้งนี้พุ่งทะลุ 300 ราย
รวมถึงมีผู้บาดเจ็บอีกหลายพันคน รัฐบาลต้องประกาศเคอร์ฟิวอย่างไม่มีกำหนดทั่วประเทศ แต่ฝูงชนต่างเมินเฉยต่อมาตรการเคอร์ฟิวและก่อความรุนแรงต่อไป จนกระทั่งวันจันทร์ (5 ส.ค.) ในที่สุดนายกฯ ชีค ฮาสินา ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งและหลบหนีออกนอกประเทศ โดยเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปถึงฐานทัพอากาศอินเดียในวันเดียวกัน และยังคงอยู่ในอินเดียจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศที่สาม โดยสื่ออินเดียรายงานว่าอดีตนายกฯ มีความตั้งใจที่จะขอลี้ภัยในสหราชอาณาจักร
*กองทัพยื่นมือ ตั้งรัฐบาลชั่วคราว
กองทัพบังกลาเทศถือว่ามีอำนาจในประเทศมาโดยตลอด โดยถึงแม้ว่านายกฯ จะสามารถควบคุมกองทัพได้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง แต่ดูเหมือนว่ากองทัพยังคงรักษาความเป็นอิสระ มีการคาดเดาว่ากองทัพอาจไม่อยากเข่นฆ่าประชาชนเพื่อหยุดยั้งการประท้วงระลอกล่าสุด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นายกฯ ต้องหนีออกนอกประเทศเพราะไม่มีกองทัพหนุนหลัง
พลเอกเวเกอร์ อุซ ซามาน ผู้บัญชาการกองทัพบังกลาเทศ กล่าวกับผู้ชุมนุมว่าจะตอบสนองทุกข้อเรียกร้องและนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประเทศ พร้อมขอความร่วมมือจากผู้ชุมนุมไม่ให้ใช้ความรุนแรง โดยเน้นย้ำว่าได้สั่งการทหารและตำรวจไม่ให้ยิงประชาชน นอกจากนี้ พลเอกซามานประกาศว่าทางกองทัพจะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นเพื่อบริหารประเทศ โดยเขาได้หารือกับนายโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน ประธานาธิบดีบังกลาเทศ รวมถึงบรรดาผู้นำทางการเมืองเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว ขณะที่นายชาฮาบุดดินให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
*สัญญาณบวก ตั้งหัวหน้าที่ปรึกษารัฐบาลชั่วคราว
หลายฝ่ายกังวลว่าการเปลี่ยนผ่านอาจไม่ราบรื่นนัก เพราะแกนนำนักศึกษาบางส่วนประกาศแล้วว่าจะไม่ยอมรับรัฐบาลชั่วคราวชุดใดทั้งสิ้น หากตัวแทนของนักศึกษาไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลดังกล่าว ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายเน้นย้ำว่า กองทัพไม่ควรเข้ามาบริหารประเทศ และควรมอบอำนาจให้รัฐบาลชั่วคราวของพลเรือน
สัญญาณบวกเริ่มปรากฏขึ้น เมื่อประธานาธิบดีชาฮาบุดดินได้หารือร่วมกับแกนนำนักศึกษาและผู้บัญชาการทหาร 3 เหล่าทัพ จากนั้นได้ประกาศแต่งตั้งนายมูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษารัฐบาลชั่วคราว ตามข้อเรียกร้องของนักศึกษา ซึ่งเชื่อว่านักการธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์รายนี้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะช่วยให้บังกลาเทศสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงิน แก้ปัญหาวิกฤตการจ้างงาน และควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงถึง 10% โดยขณะนี้นายยูนุส วัย 84 ปี กำลังเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ในกรุงปารีส และคาดว่าจะเดินทางกลับบังกลาเทศเร็ว ๆ นี้
*อุตสาหกรรมเสื้อผ้าหวั่น เตรียมรับแรงกระทบ
อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของบังกลาเทศ โดยอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปคิดเป็นสัดส่วน 83% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการว่า อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 90% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2567 นอกจากนี้ บังกลาเทศยังเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่อันดับ 3 ของโลกในปี 2566 ด้วยมูลค่าการส่งออก 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และอุตสาหกรรมนี้มีการจ้างแรงงานในประเทศมากกว่า 4 ล้านตำแหน่ง
ตลอดระยะเวลาที่อดีตนายกฯ ชีค ฮาสินา บริหารประเทศ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าของบังกลาเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การพ้นจากตำแหน่งของอดีตนายกฯ จึงสร้างความกังวลให้กับบรรดาแบรนด์เสื้อผ้าดังระดับโลกที่ต้องพึ่งพาโรงงานในบังกลาเทศ รวมถึง H&M และ Zara โดยโรงงานในบังกลาเทศราว 1,000 แห่งผลิตเสื้อผ้าให้ H&M ขณะที่แหล่งผลิตหลักของ Zara ก็ตั้งอยู่ในบังกลาเทศ ซึ่งการเปลี่ยนรัฐบาลอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้า เหล่านักลงทุนได้แต่หวังว่าการที่บังกลาเทศพึ่งพาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าอย่างมากนั้น จะเป็นปัจจัยหนุนให้อุตสาหกรรมกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดหลังจากที่หยุดชะงักเพราะการประท้วง และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีต่อไปในระยะยาว
ทั้งนี้ การขับไล่อดีตนายกฯ ออกนอกประเทศได้นั้น ถือว่าผู้ชุมนุมบรรลุผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ แต่จะนำพาประเทศให้ดีขึ้นได้จริงหรือไม่นั้น เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ส.ค. 67)
Tags: ชีค ฮาสินา, บังกลาเทศ