In Focus: ราคาของการล้างแค้น – เมื่อการทำสงครามถล่มกาซาต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจของอิสราเอล

สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซาไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของแสนยานุภาพทางการทหารและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของผลสะเทือนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวอิสราเอลด้วย”

เหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัวเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. จนมีพลเรือนเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลนั้น ทำให้อิสราเอลต้องการล้างแค้นและประกาศลั่นกลองรบโดยทิ้งระเบิดถล่มกาซาตลอด 2 สัปดาห์นับแต่นั้นมา อย่างไรก็ดี ราคาของการล้างแค้นต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ซึ่งมีมูลค่าสูงอย่างที่อิสราเอลไม่ได้ประสบมาในรอบหลายทศวรรษ

ภาคธุรกิจหยุดชะงัก แรงงานโดนเกณฑ์ไปรบ

ขอบฟ้าของกรุงเทลอาวีฟที่มักจอแจไปด้วยเสียงรถเครนและกิจกรรมการก่อสร้างต้องเงียบสงัดอยู่หลายวันหลังจากที่เมืองสั่งปิดไซต์ก่อสร้าง โดยแม้จะเพิ่งกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในสัปดาห์นี้ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น แต่การหยุดชะงักของภาคการก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อิสราเอลถึง 150 ล้านเชเกล (1.33 พันล้านบาท) ต่อวัน

นายราอูล ซารูโก ประธานสมาคมผู้รับเหมาก่อสร้างของอิสราเอลกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่แค่กระทบกับผู้รับเหมาหรือนักอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบต่อทุกครัวเรือนในอิสราเอลด้วย”

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ยังส่งผลให้แรงงานหายไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทหารกองหนุนนับแสนรายถูกเรียกตัวเข้าประจำการ ส่วนแรงงานชาวปาเลสไตน์นับพันที่ทำงานให้อิสราเอลก็ไม่สามารถเดินทางข้ามพรมแดนจากฉนวนกาซากับเขตเวสต์แบงก์มาได้ ทำให้ภาคธุรกิจขาดแคลนกำลังคนและสร้างความปั่นป่วนต่อห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ท่าเรือไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ในขณะที่ผู้ค้าปลีกก็ต้องให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากไม่มีงานให้ทำ

โรงแรมต่าง ๆ มีชาวอิสราเอลที่อพยพจากพื้นที่ชายแดนมาพักอยู่ราว ๆ ครึ่งหนึ่ง ส่วนห้องที่เหลือส่วนใหญ่ไม่มีใครเข้าพัก โรงงานหลายแห่งแม้กระทั่งโรงที่ตั้งอยู่ใกล้กาซายังคงดำเนินงานต่อไป แต่ขาดแคลนคนขับรถบรรทุกจนไม่สามารถขนส่งสินค้าได้มากเท่าปกติ

บันไดเลื่อนและทางเดินในห้างสรรพสินค้าหลักของเมืองเยรูซาเลมร้างผู้คนในช่วงสองสัปดาห์แรกของสงคราม แม้ว่าช่วงหลังจะเริ่มมีลูกค้าทยอยเข้าห้างบ้างก็ตาม แต่นายเนทาเนล ชรากา ผู้จัดการร้านชุดกีฬาโคลัมเบียในห้างดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “จำนวนคนเดินผ่านไปผ่านมาลดลงไปมาก”

นายชรากากล่าวว่า พนักงานของเขาบางคนถูกเรียกตัวเข้ากองทัพ บางคนก็กลัวเกินกว่าจะมาทำงาน

อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งคิดเป็น 18% ของ GDP อิสราเอล ก็กำลังประสบความยากลำบาก โดยนายดรอร์ บิน ซีอีโอของสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอลคาดว่า แรงงานในภาคไอทีประมาณ 10-15% ถูกเรียกตัวเข้าประจำการกองหนุน

“เราได้ติดต่อกับบริษัทเทคฯ หลายร้อยราย โดยเฉพาะพวกบริษัทสตาร์ตอัป” นายบินกล่าว พร้อมเสริมว่า หลายบริษัทกำลังจะหมดเงินทุนในการทำธุรกิจต่อไป

ด้านนายบารัค ไคลน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินจากบริษัทฟินเทคทีตาเรย์กล่าวว่า “ผลิตภาพลดลงไปมาก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะจดจ่ออยู่กับงานในแต่ละวันเมื่อในหัวคุณกังวลแต่เรื่องความเป็นความตาย”

“วิกฤตทางจิตใจ” คนอิสราเอลพากันรัดเข็มขัด

ด้วยแนวโน้มที่อิสราเอลจะส่งทหารบุกภาคพื้นดินเข้าฉนวนกาซาและความเป็นไปได้ที่สงครามจะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งในภูมิภาค ชาวอิสราเอลต่างพากันรัดเข็มขัด พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลง 12% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการใช้จ่ายลดฮวบฮาบในเกือบทุกด้าน ยกเว้นการซื้ออาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต

เมื่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็นมากกว่าครึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ความเสียหายทางเศรษฐกิจย่อมมีมหาศาล

ลีโอ ไลเดอร์แมน หัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของแบงก์ฮาโปอาลิม (Bank Hapoalim) หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของอิสราเอลกล่าวว่า มี “วิกฤตทางจิตใจ” ในหมู่ประชาชนชาวอิสราเอล

“ประชาชนจะลดการใช้จ่ายด้านการบริโภค เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและบรรยากาศที่ไม่เป็นใจ” นายไลเดอร์แมนกล่าว

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงการคลังของอิสราเอลเปิดเผยกับทางรอยเตอร์ว่า “อิสราเอลฟื้นตัวได้ดีอย่างน่าทึ่งจากการสู้รบครั้งที่ผ่าน ๆ มา แต่เหตุการณ์ครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าที่เคย แม้ตอนนี้ยังเร็วเกินกว่าที่จะบอกได้ก็ตาม”

เศรษฐกิจหด เครดิตลด หนี้เพิ่ม เงินอ่อนค่า แม้แบงก์ชาติมั่นใจว่าจะฟื้นตัว

เมื่อวันจันทร์ (23 ต.ค.) ธนาคารกลางอิสราเอลปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 เหลือ 2.3% จาก 3% และลดเหลือ 2.8% จาก 3.0% ในปี 2567 โดยตั้งสมมติฐานว่าสงครามจะถูกจำกัดวงไว้อยู่ในกาซาเท่านั้น

รัฐบาลอิสราเอลได้ให้สัญญาว่าจะใช้จ่ายในการทำสงครามครั้งนี้แบบ “ไม่จำกัด” นั่นหมายความว่างบประมาณจะยิ่งขาดดุลมากขึ้นและประเทศมีหนี้มากขึ้น โดยธนาคารกลางคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP จะพุ่งแตะระดับ 62% ในปี 2566 และ 65% ในปี 2567 จากเดิมที่อยู่ระดับ 60.5% ในปี 2565

ขณะเดียวกัน นายอามีร์ ยารอน ผู้ว่าการธนาคารกลางอิสราเอล ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในไม่ช้านี้ หลังจากธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุม 3 ครั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน พร้อมกับกล่าวว่า ธนาคารกลางยังไม่ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากการลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินเชเกลอ่อนค่าลงอีก และจะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มสงคราม สกุลเงินเชเกลของอิสราเอลอ่อนค่าลง 5% และหากนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ก็ร่วงลงไปแล้ว 15.5%

แม้ว่าธนาคารกลางอิสราเอลยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ แต่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ A1 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

“ความขัดแย้งทางทหารในครั้งนี้กำลังทำให้อิสราเอลมีความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเป็นเวลานานและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของอิสราเอลอย่างเป็นรูปธรรม”

“ต่อให้ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ยังจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล ดังนั้นหากความขัดแย้งยืดเยื้อเป็นเวลานานขึ้น รุนแรงมากขึ้น และลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย การคลังสาธารณะ (public finance) และเศรษฐกิจของอิสราเอล” มูดี้ส์กล่าว

มูดี้ส์ระบุว่า อิสราเอลได้ใช้จ่ายเงินด้านกลาโหมประมาณ 4.5% ของ GDP ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และคาดว่าอิสราเอลจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเมื่อพิจารณาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้

นอกจากมูดี้ส์แล้ว เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของอิสราเอลลงสู่ “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” และคงอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลไว้ที่ระดับ AA- โดยระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มที่จะบานปลาย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงมากขึ้น

เอสแอนด์พีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอิสราเอลจะหดตัวลง 5% ในไตรมาส 4 ปีนี้เมื่อเทียบกับในไตรมาส 3 เนื่องจากสงครามในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันและทำให้กิจกรรมทางธุรกิจอ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาวะสงครามยังทำให้รัฐบาลอิสราเอลต้องเกณฑ์ทหารกองหนุนจำนวนมาก อีกทั้งทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถูกชัตดาวน์ และบั่นทอนความเชื่อมั่นเป็นวงกว้าง

สิ่งที่ต้องแลกมาเพื่อ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

เศรษฐกิจอิสราเอลในอดีตฟื้นตัวมาได้หลายต่อหลายครั้ง เช่นเมื่อปี 2549 ในการทำสงคราม 34 วันกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอนที่มีอิหร่านหนุนหลัง GDP ของอิสราเอลลดลงถึง 0.5% แต่ก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น

อย่างไรก็ดี สงครามในปัจจุบันส่งผลสะเทือนทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากยิ่งกว่าที่เคย ราคาของการล้างแค้นครั้งนี้ไม่เพียงต้องจ่ายด้วยชีวิตคนและความไร้เสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสร้างภาระหนักต่อเศรษฐกิจของอิสราเอลเองอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 66)

Tags: , , , , ,