In Focus: ประมวลเหตุการณ์หายนะสะเทือนโลกปี 2566

ตลอดปี 2566 เกิดเหตุการณ์มากมายที่สร้างความสูญเสียให้กับทั่วโลก ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ในเดือนสุดท้ายของปีนี้ In Focus ขอพาผู้อ่านย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

*แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 04.17 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูดทางตอนใต้และตอนกลางของประเทศตุรกี รวมถึงทางตอนเหนือและตะวันตกของประเทศซีเรีย ตามมาด้วยแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดในเวลา 13.24 น. ของวันเดียวกัน นอกจากนั้นยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 30,000 ครั้งในช่วงสามเดือนต่อมา ความเสียหายจากแผ่นดินไหวกินพื้นที่รวมกว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร หรือใกล้เคียงกับขนาดของประเทศเยอรมนีทั้งประเทศ ภัยพิบัติครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 59,000 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 120,000 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในตุรกี

เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของตุรกี และเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกนับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวที่เฮติเมื่อปี 2553 ขณะที่มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ราว 1.48 แสนล้านดอลลาร์ในตุรกี หรือคิดเป็นสัดส่วน 9% ของจีดีพีของประเทศ ส่วนในซีเรียเสียหายราว 1.48 หมื่นล้านดอลลาร์

*รถไฟชนกันในอินเดีย

วันที่ 2 มิถุนายน 2566 เกิดเหตุรถไฟ 3 ขบวนชนกันใกล้กับสถานีบาฮานากา บาซาร์ ในเขตบาลาซอร์ รัฐโอริสสา ประเทศอินเดีย เริ่มจากรถไฟโดยสาร โคโรมันเดล เอ็กซ์เพรส (Coromandel Express) พุ่งชนรถไฟขนส่งสินค้า จนขบวนรถไฟโดยสารตกราง และตู้โดยสารส่วนหนึ่งกระเด็นไปชนกับรถไฟโดยสาร หาวราห์ ซูเปอร์ฟาสต์ เอ็กซ์เพรส (Howrah Superfast Express) บนรางที่อยู่ติดกัน สาเหตุเกิดจากระบบส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมและจัดการการเดินรถไฟเกิดข้อผิดพลาด

โศกนาฏกรรมครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 296 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 1,200 คน ถือเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางรถไฟครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย หนึ่งในประเทศที่มีเครือข่ายทางรถไฟกว้างขวางที่สุดในโลก นอกจากนั้นยังถือเป็นหายนะทางรถไฟที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกนับตั้งแต่เหตุการณ์รถไฟถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดจนตกรางที่ศรีลังกาเมื่อปี 2547

*เรือดำน้ำไททันระเบิด

วันที่ 18 มิถุนายน 2566 เกิดเหตุร้ายกับเรือดำน้ำไททัน (Titan) ของบริษัทสัญชาติอเมริกา โอเชียนเกต (OceanGate) ระหว่างลงไปสำรวจซากเรือไททานิกในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ นอกชายฝั่งประเทศแคนาดา การสื่อสารระหว่างไททันและเรือแม่โพลาร์พรินซ์ (Polar Prince) ขาดหายไป 1 ชั่วโมง 45 นาทีหลังจากดำดิ่งลงไปใต้มหาสมุทร และไททันไม่ได้กลับขึ้นมาบนผิวน้ำตามเวลาที่กำหนด หลังจากหายไปเป็นเวลา 4 วัน ในที่สุดยานยนต์ใต้น้ำควบคุมระยะไกลได้ค้นพบซากเรือไททัน ซึ่งอยู่ห่างจากหัวเรือไททานิกเพียง 500 เมตร ที่ระดับความลึก 3,800 เมตร

สำหรับสาเหตุเชื่อว่าตัวถังเรือดำน้ำถูกแรงดันน้ำมหาศาลจากภายนอกบีบอัดอย่างรุนแรงเฉียบพลัน (Implosion) ซึ่งอดีตพนักงานของโอเชียนเกตเคยเตือนบริษัทแล้วเรื่องความปลอดภัยของตัวถังเรือที่สร้างจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ โดยอ้างว่าแบบจำลองขนาดเล็กของไททันแสดงให้เห็นช่องโหว่ของไฟเบอร์คาร์บอนระหว่างการทดสอบแรงดัน ขณะที่โอเชียนเกตอ้างว่าทำการทดสอบการดำน้ำของไททันมากกว่า 50 ครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไททันไม่เคยผ่านการรับรองของหน่วยงานอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ส่งผลให้ลูกเรือ 5 คนเสียชีวิตทั้งหมด ได้แก่ สต็อกตัน รัช นักธุรกิจชาวอเมริกันและซีอีโอของโอเชียนเกต, ปอล อองรี นาร์โฌเลต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสและผู้เชี่ยวชาญด้านเรือไททานิก, ฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐีและนักสำรวจชาวอังกฤษ, ชาห์ซาดา ดาวูด นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน และลูกชายของเขา สุเลมาน ดาวูด

*ไฟป่าฮาวาย

วันที่ 8 สิงหาคม 2566 เกิดไฟป่าครั้งใหญ่บนเกาะเมาวี เกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยจุดที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดคือเมืองลาไฮนา เมืองท่องเที่ยวที่ถูกเผาผลาญจนเหลือเพียงซาก หายนะครั้งนี้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง คิดเป็นพื้นที่ราว 17,000 เอเคอร์ อาคารบ้านเรือนถูกทำลายมากกว่า 2,200 หลัง และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย นับเป็นภัยธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐฮาวาย และเป็นเหตุไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีของสหรัฐอเมริกา โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่ามูลค่าความเสียหายอย่างเป็นทางการสูงถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์

สาเหตุที่ทำให้ไฟป่าครั้งนี้โหมกระหน่ำและลุกลามอย่างรุนแรงคือ สภาพความแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในฮาวาย โดยพืชพันธุ์ที่แห้งแล้งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีของไฟป่า ทั้งยังเจอลมกระโชกแรงพัดเปลวเพลิงไปติดบ้านเรือนประชาชน นอกจากนี้ สภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะยังทำให้การระดมนักดับเพลิงที่เชี่ยวชาญและการจัดหาอุปกรณ์ดับเพลิงเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่งผลให้การควบคุมเพลิงไม่สามารถทำได้อย่างทันท่วงที

*สงครามอิสราเอล-ฮามาส

วันที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มติดอาวุธฮามาสได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ ด้วยการยิงจรวดจำนวนมากจากฉนวนกาซา รวมทั้งฝ่าแนวกั้นฉนวนกาซา-อิสราเอล เข้าโจมตีฐานทัพของอิสราเอล จับพลเรือนชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติไปเป็นตัวประกัน โดยกลุ่มฮามาสระบุว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นการตอบโต้การปิดล้อมฉนวนกาซา การขยายถิ่นฐานของชาวอิสราเอลอย่างผิดกฎหมาย และการที่ชาวอิสราเอลกระทำรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์มากขึ้น หลังจากนั้นทางอิสราเอลได้ตอบโต้อย่างรุนแรงและต่อเนื่องทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ก่อนที่จะมีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวระหว่างวันที่ 24-30 พฤศจิกายน และมีการแลกเปลี่ยนตัวประกันเกิดขึ้น

สงครามที่กินเวลานานเกือบสองเดือนจนถึงขณะนี้ ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาต้องพลัดถิ่นราว 1,800,000 คน ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 40,000 คน และเสียชีวิตมากกว่า 15,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง ส่วนชาวอิสราเอลต้องพลัดถิ่นราว 500,000 คน ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 7,000 คน และเสียชีวิตกว่า 1,300 ราย

เหล่านี้เป็นเพียงเหตุการณ์บางส่วนที่สะเทือนโลกในปี 2566 และเหตุการณ์ในลักษณะนี้ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นอีกในอนาคต หวังว่าปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้ โลกเราจะเผชิญกับเหตุร้ายน้อยที่สุด และสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , , ,