เหลืออีกเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ชาวอเมริกันและคนทั่วโลกก็จะได้เห็นโฉมหน้าประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ กันแล้ว จะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกอย่าง คามาลา แฮร์ริส แคนดิเดตจากพรรคเดโมแครต หรือประธานาธิบดีหน้าเดิมอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกัน
แต่จนถึงขณะนี้ ยังคงเป็นเรื่องยากเกินจะคาดเดาว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากแคนดิเดตทั้งสองมีคะแนนเบียดกันมากชนิดหายใจรดต้นคอ โดยผลการสำรวจความเห็นหลายสำนักต่างชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่สูสีคู่คี่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปีเลยทีเดียว
ผลสำรวจความคิดเห็นทั่วประเทศล่าสุดจาก FiveThirtyEight เผยแฮร์ริสนำทรัมป์อยู่ที่ 48.1% ต่อ 46.7% ส่วนโพลของ The New York Times ชี้ว่า แฮร์ริสมีคะแนนนำทรัมป์อยู่ไม่ถึง 1% ซึ่งเป็นคะแนนนำที่น้อยที่สุดสำหรับแฮร์ริสนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม
ท่ามกลางการแข่งขันที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นเช่นนี้ ทุกสายตาจึงต่างจับจ้องไปยังรัฐสมรภูมิ เนื่องจากผลการเลือกตั้งในรัฐเหล่านี้อาจชี้ชะตาว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ดังเช่นตัวเต็งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคนในอดีตที่ต้องฝันสลายเพราะปราชัยในรัฐเหล่านี้มาแล้ว
แล้วรัฐสมรภูมิคืออะไร ทำไมรัฐจำนวนเพียงหยิบมือจึงมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เราขอนำผู้อ่านไปหาคำตอบ
การเลือกตั้งทางอ้อม
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม กล่าวคือ ประชาชนชาวอเมริกันไม่ได้ลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง แต่เป็นการเลือกตั้งผ่าน “คณะผู้เลือกตั้ง” (Electoral College) เพื่อให้ไปทำหน้าที่ออกเสียงเลือกประธานาธิบดีอีกต่อหนึ่ง
โดยคะแนนเลือกตั้งมี 2 แบบ เรียกว่า Popular Vote และ Electoral Vote การที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเกือบ 186.5 ล้านคนในทุกรัฐทั่วประเทศออกไปลงคะแนนเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ตนชื่นชอบในวันที่ 5 พฤศจิกายนนั้น ถือเป็น Popular Vote จากนั้นคณะผู้เลือกตั้งจะเลือกประธานาธิบดีอีกทอดหนึ่งเรียกว่า Electoral Vote
ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียง ของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 เสียง และผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งมากที่สุดจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี
คณะผู้เลือกตั้งเป็นใคร มาจากไหน
ก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองในแต่ละรัฐจะคัดเลือกรายชื่อ “ผู้เลือกตั้ง” (Elector) ในรัฐนั้น ๆ ซึ่งผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของพรรคหรือผู้สนับสนุนพรรค และต้องไม่มีตำแหน่งทางการเมือง
แต่ละรัฐมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐนั้น บวกกับจำนวนวุฒิสมาชิกที่มีอยู่ 2 คนเท่ากันหมดทุกรัฐ ตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียมีสส. 52 คน บวกสว. 2 คน เท่ากับว่าแคลิฟอร์เนียมีคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง 54 เสียง เป็นต้น
คณะผู้เลือกตั้งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 538 คน โดย 535 คนมาจาก 50 รัฐ และ 3 คนมาจากดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย (District of Columbia) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา
ผู้ชนะกินรวบ
การเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ ใช้ระบบ Winner-Take-All หรือผู้ชนะกินรวบ หมายความว่า ใครชนะเลือกตั้งในรัฐไหน ก็จะได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นไปทั้งหมด ระบบนี้ใช้กับ 48 รัฐ และดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย ยกเว้น 2 รัฐ คือ รัฐเมนและรัฐเนแบรสกาที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งคะแนน (Split Vote) ซึ่งซับซ้อนมากกว่า
ภายใต้ระบบ Winner-Take-All นี้ จึงไม่ได้การันตีว่าแคนดิเดตที่ชนะ popular vote จะได้เป็นประธานาธิบดีเสมอไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดไม่ใกล้ไม่ไกล คือ การเลือกตั้งปี 2559 เมื่อฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ชนะ popular vote แต่กลับแพ้คะแนน electoral vote ให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งลงชิงเก้าอี้ปธน.ในนามพรรครีพับลิกันเป็นสมัยแรก เนื่องจากทรัมป์พลิกล็อกเก็บชัยชนะในรัฐสมรภูมิสำคัญ ได้แก่ เพนซิลเวเนีย มิชิแกน และวิสคอนซิน ซึ่งล้วนแต่เป็นรัฐที่เคยสนับสนุนพรรคเดโมแครตมาก่อน
รัฐสมรภูมิคืออะไร เหตุใดจึงอาจพลิกเกมการเลือกตั้ง
โดยทั่วไปแล้ว รัฐส่วนใหญ่จะเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคต่าง ๆ เช่น แคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีผู้เลือกตั้ง 54 คน เป็นฐานเสียงของเดโมแครต เรียกว่า รัฐสีน้ำเงิน (Blue State) ในขณะที่รัฐเท็กซัส มีผู้เลือกตั้ง 40 คน เป็นรัฐที่คนส่วนใหญ่สนับสนุนรีพับลิกัน เรียกว่า รัฐสีแดง (Red State) จึงเรียกได้ว่า ผลการเลือกตั้งของรัฐเหล่านี้แบเบอร์หรือนอนมาสำหรับแคนดิเดตแต่ละพรรค
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกรัฐจะมีพรรคครอบครอง รัฐที่ว่านี้เรียกว่า “รัฐสมรภูมิ” (Battleground State หรืออีกคำหนึ่งที่ใช้แทนกันคือ Swing State) ซึ่งอาจเปลี่ยนขั้วในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง สำหรับเกณฑ์ที่จะกำหนดว่ารัฐใดเป็นรัฐสมรภูมิก็คือ คะแนนนิยมของแคนดิเดตจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต้องใกล้เคียงกันมาก โดยห่างกันน้อยกว่า 5%
กลุ่มรัฐสมรภูมิส่วนมากจะซ้ำเดิมหรือคล้ายกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 4 ปี แต่อาจมีปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ ที่ทำให้รัฐซึ่งเคยเป็นสีแดง หรือสีน้ำเงิน กลายเป็นสีม่วง หรือในทางกลับกัน ทำให้รัฐที่เคยเป็นสมรภูมิการแข่งขันกลายเป็นรัฐฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น จอร์เจียกลายเป็นรัฐสมรภูมิในการเลือกตั้งปีนี้หลังจากชัยชนะเหนือความคาดหมายของไบเดนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2563 รวมถึงชัยชนะของราฟาเอล วอร์น็อค วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งกลางเทอมปี 2565 หรือฟลอริดาที่เป็นรัฐสวิงสเตตมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 แต่ปัจจุบันกลับมีแนวโน้มเป็นรัฐสีแดง โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งของพรรครีพับลิกันที่เพิ่มสูงขึ้นในรัฐนี้
รัฐสมรภูมิที่ถูกจับตาในศึกเลือกตั้งคราวนี้มีอยู่ 7 รัฐ ได้แก่ แอริโซนา (มีคะแนนผู้เลือกตั้ง 11 คะแนน) จอร์เจีย (16 คะแนน) มิชิแกน (15 คะแนน) เนวาดา (6 คะแนน) นอร์ทแคโรไลนา (16 คะแนน) เพนซิลเวเนีย (19 คะแนน) และวิสคอนซิน (10 คะแนน) นักวิเคราะห์ต่างฟันธงว่า คะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งรวม 93 คะแนนใน 7 รัฐชี้ชะตานี้ จะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก และอาจถึงกับพลิกผลแพ้ชนะได้เลย
โหมลงพื้นที่หาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายในรัฐสมรภูมิ
ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ การหาเสียงเลือกตั้งในรัฐสมรภูมิจึงเป็นไปอย่างเข้มข้นในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง โดยแทนที่จะหาเสียงในรัฐที่เป็นฐานที่มั่นของพรรคอยู่แล้ว ผู้สมัครแต่ละพรรคต่างทุ่มสุดตัวเพื่อดึงคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐสมรภูมิด้วยการจัดกิจกรรมชุมนุมเพื่อกล่าวปราศรัยหาเสียง ลงพื้นที่พบปะประชาชน ทุ่มงบโฆษณาทางทีวีและโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกลุ่มประชากรต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
อย่างเช่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม แฮร์ริสฉลองวันเกิดครบรอบ 60 ปีของเธอด้วยการกล่าวปราศรัยที่โบสถ์ในรัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐสมรภูมิทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ขณะที่ในวันเดียวกันนั้นเอง ทรัมป์ยอมถอดเสื้อสูท เปลี่ยนไปสวมผ้ากันเปื้อน แล้วลงมือทอดเฟรนช์ฟรายส์ พร้อมเสิร์ฟให้กับลูกค้าที่ร้านแมคโดนัลด์สาขาหนึ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นรัฐสวิงสเตตเช่นกัน
ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในรัฐสมรภูมิพบว่า คะแนนของผู้สมัครทั้งสองยังสูสีกินกันไม่ลง โดยแฮร์ริสและทรัมป์มีคะแนนเท่ากันในวิสคอนซิน เนวาดา เพนซิลเวเนีย แฮร์ริสนำอยู่ 1 จุดในมิชิแกน และทรัมป์มีคะแนนนำ 1-3 จุดในนอร์ทแคโรไลนา จอร์เจีย และแอริโซนา
ไทม์ไลน์ตั้งแต่วันเลือกตั้งถึงวันรับตำแหน่งประธานาธิบดี
5 พ.ย. 2567 – วันเลือกตั้งทั่วไป
รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กำหนดให้ “วันเลือกตั้งทั่วไป” (Election Day) เป็นวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนในปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งในครั้งนี้ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน
ในวันนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เพียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่ตนชื่นชอบเท่านั้น แต่ชาวอเมริกันยังเข้าคูหาเพื่อเลือกผู้สมัครดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในระดับรัฐบาลกลาง ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่นด้วย ประกอบไปด้วยที่นั่งในวุฒิสภา 34 ที่นั่ง และในสภาผู้แทนราษฎร 435 ที่นั่ง รวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ 12 รัฐ
17 ธ.ค. 2567 – การประชุมคณะผู้เลือกตั้ง
ผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐจะประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงให้กับประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ควบคุมโดยกฎหมายของรัฐ ผู้เลือกตั้งจะลงนาม ประทับตราและรับรองคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยคะแนนเสียงที่ได้จะถูกส่งไปยังรัฐสภาเพื่อประกาศผลอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม
3 ม.ค. 2568 – สภาคองเกรสชุดที่ 119 เปิดสมัยประชุม
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่ชนะเลือกตั้งจะเข้าพิธีสาบานตน
6 ม.ค. 2568 – สภาคองเกรสรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
สภาคองเกรสจัดการประชุมร่วมวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนับผลคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจากคณะผู้เลือกตั้ง โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง จะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
20 ม.ค. 2568 – วันรับตำแหน่งประธานาธิบดี
รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดจากปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่า สหรัฐอเมริกาจะได้ประธานาธิบดีคนที่ 47 อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2568 นั่นเอง
ระบบการเลือกตั้งสหรัฐฯ ยังมีรายละเอียดซับซ้อนกว่าที่กล่าวมามาก อย่างไรก็ดี หวังว่าผู้อ่านจะได้เห็นภาพรวมของกระบวนการสรรหาผู้นำประเทศแม่แบบประชาธิปไตยแห่งนี้ไม่มากก็น้อย และน่าจะเพิ่มอรรถรสให้การลุ้นผลเลือกตั้งสนุกยิ่งขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 67)
Tags: In Focus, คามาลา แฮร์ริส, พรรครีพับลิกัน, พรรคเดโมแครต, เลือกตั้งสหรัฐ, โดนัลด์ ทรัมป์