เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ญี่ปุ่นมองว่านี่เป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นหลังจากที่ประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจชะงักงันมานาน ทั้งยังเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่จากคลื่นยักษ์สึนามิและหายนะที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ แต่ญี่ปุ่นก็ต้องฝันสลายจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก จนการแข่งขันโอลิมปิกต้องเลื่อนออกไปหนึ่งปี แต่ในที่สุด มหกรรมการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติก็กำลังจะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 23 ก.ค.นี้
รวมกันเป็นหนึ่งท่ามกลางความขัดแย้ง
คำขวัญประจำการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกคือ “United by Emotion” หรือ “รวมกันเป็นหนึ่งด้วยอารมณ์ความรู้สึก” ซึ่งสื่อถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คนและนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลก ขณะที่คำขวัญของโอลิมปิก “Faster, Higher, Stronger” ได้ถูกเปลี่ยนเป็น “Faster, Higher, Stronger – Together” เพื่อเน้นย้ำถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ แต่ในความเป็นจริงนั้น การแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกจัดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง เนื่องจากมีผู้คนมากมายทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกที่มองว่าสถานการณ์โรคระบาดยังไม่น่าไว้วางใจมากพอที่จะจัดกิจกรรมใหญ่เช่นนี้
เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 8 ก.ค. รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวเป็นครั้งที่ 4 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. ถึง 22 ส.ค. ขณะที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกตัดสินใจไม่อนุญาตให้ผู้ชมเข้าร่วมชมการแข่งขันในสนาม ทั้งในโตเกียว ชิบะ คานางาวะ ไซตามะ ฟุกุชิมะ และฮอกไกโด พร้อมกับขอความร่วมมือให้ประชาชนรับชมการถ่ายทอดการแข่งขันทางโทรทัศน์เพื่อลดการเดินทางให้ได้มากที่สุด หลังจากที่บรรดาที่ปรึกษาทางการแพทย์ของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้คำแนะนำว่า การไม่มีผู้เข้าชมการแข่งขันในสนามจะเป็นทางเลือกที่เสี่ยงน้อยที่สุด
ขณะเดียวกัน นางยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว เปิดเผยว่า จำนวนโรงพยาบาลที่มีอย่างเพียงพอ ประกอบกับการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในหมู่ผู้สูงอายุ จะช่วยให้กรุงโตเกียวสามารถจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดี นางโคอิเกะเตือนว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่จบลงในเร็ววันนี้ และเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาก็ยังสร้างความเสี่ยงอยู่
หวั่นเกิดโควิด-19 สายพันธุ์โอลิมปิก
ช่วงปลายเดือนพ.ค. นายนาโอโตะ อุเอะยามะ ประธานสมาคมแพทย์ญี่ปุ่น ได้ออกมาเตือนว่า การจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกอาจนำไปสู่การเกิดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอลิมปิก โดยเขาอธิบายว่า ไวรัสโควิด-19 หลากหลายสายพันธุ์จากสถานที่ต่าง ๆ จะมารวมกันที่โตเกียว และไม่อาจปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะเกิดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จากการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งจะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ และจะตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ไปเป็นร้อยปี
ในวันที่ 17 ก.ค. หรือก่อนที่พิธีเปิดการแข่งขันเพียง 6 วัน สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลก็เกิดขึ้น เมื่อทางผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิกได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก โดยเป็นบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน และวันต่อมาก็พบนักกีฬา 2 รายแรกในหมู่บ้านนักกีฬาที่ติดโควิด-19 ขณะที่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ยังคงเดินทางมายังหมู่บ้านนักกีฬาอย่างต่อเนื่อง โดยนักกีฬาส่วนใหญ่จากทั้งหมดราว 11,000 คนจะพักอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาตลอดสองสัปดาห์ข้างหน้า ต่อมาในวันที่ 20 ก.ค. พบอาสาสมัครโอลิมปิกติดโควิด-19 เป็นรายแรกนับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีความเกี่ยวข้องกับโอลิมปิกอยู่ที่ 67 รายแล้ว
ทั่วโลกไม่อินกับโอลิมปิก
สถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก ทั้งในเรื่องของสุขภาพ การเดินทาง และการทำมาหากิน จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั่วโลกให้ความสนใจกับการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ค่อนข้างน้อย โดยเมื่อวันที่ 13 ก.ค. บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก Ipsos เปิดเผยว่า จากการสำรวจผู้ใหญ่ 19,510 คน ใน 28 ประเทศ พบว่า ผู้คนไม่ค่อยให้ความสนใจการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 ขณะที่นักกีฬาที่มีชื่อเสียงหลายคนถอนตัวจากการแข่งขัน โดยผลสำรวจระบุว่าคนทั่วโลกสนใจโอลิมปิกเพียง 46% ส่วนในญี่ปุ่นมีไม่ถึง 35% นอกจากนี้ คนทั่วโลก 57% ไม่เห็นด้วยกับการจัดโอลิมปิก และชาวญี่ปุ่นมากถึง 78% ไม่เห็นด้วยกับการจัดโอลิมปิก
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. หรือ 4 วันก่อนพิธีเปิดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก หนังสือพิมพ์อาซาฮีได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นชาวญี่ปุ่น 1,444 คน ซึ่งระบุว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าญี่ปุ่นจะสามารถจัดการแข่งขันโอลิมปิกได้อย่างปลอดภัย โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 68% ยังคงกังขาเรื่องความสามารถของผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิกในการควบคุมโควิด-19 ขณะที่ 55% ไม่เห็นด้วยกับการจัดการแข่งขัน นอกจากนี้ 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นด้วยที่ไม่อนุญาตให้ผู้ชมเข้าชมการแข่งขันในสนาม
ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร
หลายคนเกิดคำถามว่า การดึงดันจัดการแข่งขันโอลิมปิกในสถานการณ์เช่นนี้คุ้มค่าหรือไม่ สำหรับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) อาจจะถือว่าคุ้ม เพราะถึงแม้จะขาดรายได้จากการขายบัตรเข้าชมในสนาม แต่ก็ยังมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งคิดเป็น 73% ของรายได้ทั้งหมดที่ IOC จะได้รับจากการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแต่ละครั้ง สหรัฐประเทศเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นอาจจะไม่คุ้ม แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจยกเลิกการจัดการแข่งขัน หากญี่ปุ่นยกเลิกการแข่งขันโดยที่ IOC ไม่เห็นด้วยก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหายทุกอย่างให้กับ IOC
มุมหนึ่งอาจมองได้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องตกกระไดพลอยโจนเนื่องจากไม่มีอำนาจตัดสินใจยกเลิกการจัดการแข่งขัน แต่อีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่านายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น อาจได้ประโยชน์จากการเดินหน้าจัดโอลิมปิก เพราะเขาต้องลงสู้ศึกเลือกตั้งผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งความหวังที่เขาจะชนะค่อนข้างริบหรี่ เนื่องจากประชาชนไม่พอใจผลงานของรัฐบาล โดยผลสำรวจที่สำนักข่าวเกียวโดเผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ระบุว่า คะแนนนิยมของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับ 35.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ที่นายซูงะเข้าดำรงตำแหน่งในปีที่แล้ว ขณะที่คะแนนไม่สนับสนุนคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นแตะ 49.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ดังนั้น หนทางเดียวที่นายซูงะจะพลิกเกมและเอาชนะการเลือกตั้งได้ก็คือ การจัดการแข่งขันโอลิมปิกให้ประสบความสำเร็จให้ได้
นายซูงะยืนยันว่าญี่ปุ่นมีหน้าที่เดินหน้าจัดการแข่งขันโอลิมปิก เพราะโอลิมปิกเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะที่โลกมีเหนือวิกฤตโควิด-19 ทั้งยังเป็นการส่งสารแห่งความหวังและความกล้าหาญให้แก่ทั่วโลก ขณะที่นายโทมัส บาค ประธาน IOC กล่าวว่า
“โตเกียวโอลิมปิกเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นได้เปล่งประกาย และส่งสารอันทรงพลังจากญี่ปุ่นถึงทั่วโลก นั่นคือ สันติภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความสามารถในการฟื้นตัว ผู้คนหลายพันล้านทั่วโลกจะติดตามชมโอลิมปิกครั้งนี้และชื่นชมความสำเร็จของญี่ปุ่น”
…ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจะได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลก หรือจะตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ไปเป็นร้อยปี ทุกคนจะได้ร่วมเป็นสักขีพยานตลอดสองสัปดาห์ข้างหน้านี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 64)
Tags: IOC, ญี่ปุ่น, นาโอโตะ อุเอะยามะ, ยูริโกะ โคอิเกะ, โควิด-19, โตเกียวโอลิมปิก, โทมัส บาค, โอลิมปิก