เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อินเดียได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ด้วยการเป็นประเทศที่ 4 ของโลกรองจากรัสเซีย สหรัฐ และจีน ที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ และเป็นชาติแรกของโลกที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดบริเวณขั้วใต้ (South pole) ของดวงจันทร์ ซึ่งไม่เคยมีชาติไหนทำได้มาก่อน ท่ามกลางความดีใจของนักวิทยาศาสตร์และชาวอินเดีย
แต่กว่าที่อินเดียประสบความสำเร็จอย่างงดงามในภารกิจจันทรายาน-3 อินเดียต้องทุ่มเทอย่างหนักตลอดหลายปี หลังเผชิญกับความล้มเหลวในการสำรวจครั้งก่อน
- อินเดียผงาดบนดวงจันทร์
“อินเดียอยู่บนดวงจันทร์แล้ว” นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย หัวหอกคนสำคัญในการผลักดันโครงการอวกาศอินเดีย ประกาศก้องหลังจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ลงจอดสำเร็จบนดวงจันทร์ เมื่อเวลา 19.04 น. ของวันที่ 23 ส.ค. 2566 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงตอกย้ำความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ด้านอวกาศของอินเดีย แต่ยังปูทางให้อินเดียก้าวไปสู่มหาอำนาจด้านอวกาศของโลก
จันทรายาน-3 เป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งที่ 3 ขององค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) ซึ่งเดิมมีกำหนดเดินทางสู่อวกาศในปี 2564 แต่หยุดชะงักเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยภารกิจนี้ประกอบด้วย 1.โมดูลขับเคลื่อน 2. ยานแลนเดอร์ หรือยานลงจอด “วิกรม” (Vikram) ที่มีความสูง 2 เมตร และ 3. ยานสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ “ปรัชญาณ” (Pragyan) ซึ่งเป็นรถโรเวอร์ 6 ล้อที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และมีน้ำหนักเพียง 26 กิโลกรัม
อินเดียส่งยานอวกาศจันทรายาน-3 เดินทางขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 14 ก.ค. จากฐานปล่อยจรวดที่ศูนย์อวกาศสาทิศธาวัน บนเกาะศรีหริโคตา รัฐอานธรประเทศ และเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 6 ส.ค. และในที่สุด ยานลงจอดวิกรมสามารถลงจอดได้อย่างนุ่มนวลบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ เมื่อเวลาประมาณ 19.04 น. ตามเวลาประเทศไทย ของวันที่ 23 ส.ค. 2566
เป้าหมายหลักของภารกิจนี้คือตามล่าหาน้ำแข็งที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการตั้งที่อยู่อาศัยของมนุษย์บนดวงจันทร์ในอนาคต ดังนั้น ทันทีที่ยานอวกาศของอินเดียแตะพื้นผิวดวงจันทร์ ยานปรัชญาณก็เริ่มปฏิบัติการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ และสังเกตพื้นที่บริเวณใกล้เคียง โดยยานทั้งสองลำจะทำภารกิจนาน 14 วันเพื่อเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดวงจันทร์
อีกหนึ่งความสำเร็จประการสำคัญของโครงการสำรวจดวงจันทร์นี้คือ อินเดียใช้งบประมาณต่ำกว่าประเทศอื่นมาก โดยองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ระบุว่า อินเดียใช้เงินลงทุนเพียง 74.6 ล้านดอลลาร์ ขณะที่โครงการอะพอลโลของสหรัฐ ซึ่งเริ่มในปี 2504 กินเวลานาน 11 ปี และใช้เงินไปทั้งสิ้น 2.55 หมื่นล้านดอลลาร์
ศาสตราจารย์แอนดรูว์ โคตส์ ประจำห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์อวกาศมัลลาร์ด มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการโคจรรอบดวงจันทร์และดาวอังคาร การนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ตอกย้ำสถานะอินเดียในฐานะเป็นประเทศชั้นนำด้านการสำรวจอวกาศ และยังเป็นความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมที่ยอดเยี่ยม
- ถอดบทเรียนจากความล้มเหลวครั้งก่อน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อินเดียพยายามพิชิตดวงจันทร์ เมื่อปี 2551 อินเดียเริ่มภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรก ด้วยการส่งยานจันทรายาน-1 ซึ่งสามารถเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และในปี 2562 อินเดียส่งจันทรายาน-2 ลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยยานตกกระแทกกับพื้นผิวดวงจันทร์
การนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายสักเท่าไร เนื่องจากพื้นผิวส่วนใหญ่ของดวงจันทร์มีลักษณะขรุขระและเป็นหลุมบ่อ ซึ่งทำให้ยากต่อการลงจอด โดยเฉพาะบริเวณขั้วโลกใต้ ที่ยังไม่มีชาติไหนลงจอดได้สำเร็จ เพียงไม่กี่วันก่อนที่อินเดียจะนำยานลงจอด ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกของรัสเซียในรอบ 47 ปีประสบความล้มเหลว หลังยานอวกาศลูนา-25 (Luna-25) สูญเสียการควบคุมและพุ่งชนเข้ากับดวงจันทร์
โรเบิร์ต เบราน์ หัวหน้าฝ่ายสำรวจอวกาศของห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เปิดเผยสาเหตุถึงความท้าทายดังกล่าวว่า ขณะลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ทุกการคำนวณ และการเคลื่อนไหวของยานจะต้องเกิดขึ้นตรงเวลาตามลำดับที่ถูกต้อง ข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องใด ๆ จากฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ยานที่ลงจอดมักต้องอาศัยกล้องเพื่อประเมินพื้นผิวเบื้องล่างแบบเรียลไทม์ในนาทีสุดท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการพลิกคว่ำจากก้อนหินและหลุมอุกกาบาต
ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์อินเดียจึงได้ศึกษาความผิดพลาดในครั้งนั้นและปรับปรุงใหม่ โดยทีมงานส่วนใหญ่ของภารกิจนี้เป็นชุดเดิมกับเมื่อปี 2562 จึงมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นอย่างดี
นักวิทยาศาสตร์ของ ISRO กล่าวว่า พวกเขาได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะลงจอดได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงเพิ่มโซนลงจอดที่น่าจะเป็นไปได้ อีกทั้งยานลงจอดยังได้รับการติดตั้งเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นและมีขาที่แข็งแรงยิ่งขึ้นเพื่อรับแรงกระแทก
- ชาติแรกบนขั้วใต้ของดวงจันทร์
ขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นพื้นที่เป้าหมายของการสำรวจดวงจันทร์ที่ทุกประเทศให้ความสนใจ การที่อินเดียนำยานลงจอดบนบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก ถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของโครงการสำรวจอวกาศอินเดีย
เหตุผลที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นพื้นที่เป้าหมายของการสำรวจดวงจันทร์ เป็นเพราะพื้นที่ดังกล่าวคาดว่าจะพบน้ำแข็งที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการดำรงชีพบนดวงจันทร์ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อช่วยเหลือนักบินอวกาศและผลิตเชื้อเพลิงจรวด รวมถึงรองรับกิจกรรมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ การขุดค้นแร่และการตั้งฐานบนดวงจันทร์ หรือจุดเชื่อมต่อสำหรับการเดินทางไปยังดาวอังคาร
นอกจากนี้ เอียน วิตเทคเกอร์ อาจารย์อาวุโสด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยนอตติงแฮมเทรนท์ระบุว่า การลงจอดของยานจันทรายาน-3 บนดวงจันทร์จะช่วยปูทางไปสู่การสร้างฐานบนดวงจันทร์ในอนาคต เพราะการลงจอดบนขั้วใต้หรือใกล้บริเวณดังกล่าวมีแหล่งน้ำ ซึ่งสามารถนำใช้ประโยชน์ในการสร้างฐานบนดวงจันทร์”
- เปิดแผนพิชิตระบบสุริยะ สู่มหาอำนาจด้านอวกาศ
การลงจอดยานจันทรายาน-3 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของภารกิจพิชิตอวกาศของอินเดีย โดยอินเดียยังมีโครงการสำรวจระบบสุริยะอื่น ๆ ที่กำลังเดินหน้าต่อไป เพื่อเดินหน้าด้านอวกาศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งตอกย้ำสถานะของอินเดียในฐานะมหาอำนาจระดับโลกด้านอวกาศรายถัดไป ตามหลังสหรัฐ รัสเซีย และจีน
เริ่มด้วยภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. อินเดียได้ส่งยานอวกาศอาดิตยา-แอล1 (Aditya-L1) เดินทางออกนอกอวกาศ โดยยานเข้าปฏิบัติภารกิจในวงโคจรรัศมีรอบ “จุดลากร็องฌ์ที่ 1” (Lagrange Point 1 หรือ L1) ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งสามารถสังเกตดวงอาทิตย์ได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง เพื่อศึกษาลมสุริยะซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโลก เช่น การรบกวนการสื่อสารและระบบนำทาง
อินเดียยังได้ประกาศภารกิจส่งมนุษย์อวกาศอินเดีย โดยทางการวางแผนจะส่งหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ไปโคจรในอวกาศด้วยยานอวกาศกากันยาน (Gaganyaan) ภายในปี 2567 เพื่อทดสอบระบบภายในยานอวกาศ หากภารกิจดังกล่าวสำเร็จไปด้วยดี องค์การ ISRO จะส่งนักบินอวกาศชาวอินเดีย 3 คน เข้าสู่วงโคจรรอบโลก เป็นเวลา 3 วัน ก่อนจะกลับมาลงจอดในมหาสมุทรอินเดีย
นอกจากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ อินเดียยังมีภารกิจสำรวจดาวอังคารด้วยยานมังคลายาน 2 (Mangalyaan 2) ต่อยอดความสำเร็จจากภารกิจของยานมังคลายาน 1 โดยมีกำหนดการปล่อยยานอวกาศในช่วงปี 2567 ยานสำรวจมีลักษณะเป็นยานอวกาศโคจรรอบดาวอังคาร ติดตั้งกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ตรวจสอบพื้นผิวดาวอังคาร เช่น กล้องถ่ายภาพไฮเปอร์สเปกตรัม กล้องแพนโครมาติกที่มีความละเอียดสูง และเรดาร์
ปิดท้ายด้วยภารกิจโคจรรอบดาวศุกร์ “ศุกรยาน-1” (Shukrayaan-1) อินเดียต้องการส่งยานขึ้นสู่อวกาศในช่วงปี 2567 เพื่อศึกษาและสำรวจชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ฝาแฝดของโลก ตลอดจนความดันอากาศบนพื้นผิว อุณหภูมิพื้นผิวดาวศุกร์ และค้นหาสัญญาณของชีวิตจุลินทรีย์
- เศรษฐกิจอวกาศสดใส มุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอวกาศของอินเดียมีมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์ โดยมีส่วนแบ่ง 2% ในเศรษฐกิจด้านอวกาศทั่วโลก และคาดว่าอุตสาหกรรมอวกาศของอินเดียอาจสูงแตะ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2583 สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดการส่งยานอวกาศทั่วโลกที่คาดว่าจะเติบโตจาก 9 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ทะลุ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2573
รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายโมดีวางแผนที่จะขยายส่วนแบ่งในตลาด 5 เท่าในทศวรรษหน้า ในฐานะผู้ให้บริการส่งยานอวกาศด้วยต้นทุนต่ำ โดยอินเดียจะเดินหน้ากระตุ้นการลงทุนด้วยการปล่อยยานอวกาศในภาคเอกชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมมากขึ้นอีก นับตั้งแต่ปี 2542 อินเดียได้เปิดตัวดาวเทียมต่างประเทศ 381 ดวงสำหรับ 34 ประเทศ ซึ่งทำรายได้สูงถึง 279 ล้านดอลลาร์
นายจิเทนดรา ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดีย มองว่า การลงจอดยานที่ประสบความสำเร็จของอินเดียครั้งอาจกระตุ้นเศรษฐกิจของอินเดียอย่างมหาศาล จากภารกิจโครงการสำรวจอวกาศในภาคเอกชน เขาเสริมว่า “ในปี 2557 อินเดียมีสตาร์ตอัป 350 แห่ง แต่ปัจจุบัน เรามีสตาร์ตอัปมากกว่า 1.25 แสนราย และยูนิคอร์นถึง 130 แห่ง ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของนวัตกรรมในประเทศของเราไปโดยสิ้นเชิง”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของยานจันทรายาน-3 จะสร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญในภาคการจ้างงานที่มีทักษะสูงมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมอวกาศต้องการบุคลากรที่มีศักยภาพในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสาขาวิชาทางเทคนิคต่าง ๆ ตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และวิศวกร ไปจนถึงช่างเทคนิค มีความสำคัญอย่างมากต่ออินเดีย ซึ่งต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังเกิดโรคระบาด
ความสำเร็จของภารกิจจันทรายาน-3 ของอินเดีย ไม่เพียงแต่ปลุกความภาคภูมิใจให้แก่คนในชาติ แต่ยังเป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจที่ดีต่อประเทศอื่น ๆ ที่ฝันจะไปสำรวจอวกาศ แต่อาจมีต้นทุนจำกัดในอนาคต เราอาจจะเห็นหลาย ๆ ชาติหน้าใหม่เดินทางไปสำรวจอวกาศ หรือจะเป็นแค่การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่มหาอำนาจแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีด้านอวกาศ ก็คงต้องรอดูกันต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 66)
Tags: จันทรายาน-3, ดวงจันทร์, นเรนทรา โมดี, สำรวจดวงจันทร์