IMF แนะ BOJ ยุตินโยบายผ่อนคลายการเงิน-ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรียกร้องให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) ซึ่งรวมถึงการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน ขณะเดียวกันก็แนะนำให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

IMF ระบุว่า ในการปรับนโยบายการเงินสู่ระดับปกตินั้น BOJ ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและควรมีการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อให้ตลาดรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่ BOJ ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษมาเป็นเวลานานถึง 10 ปี ซึ่งเป็นนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นปรับตัวสู่ระดับเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ

นางกีตา โกปินาธ รองกรรมการจัดการของ IMF กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ (9 ก.พ.) ว่า “เรามองว่าภารกิจของ BOJ ในการสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวด้วยการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินนั้นได้เสร็จสิ้นลงแล้วและได้ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นด้วย ดังนั้น BOJ ก็ไม่จำเป็นต้องรอเวลาให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออีกต่อไป”

“BOJ ควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้” นางโกปินาธกล่าว

คำแนะนำล่าสุดของ IMF มีขึ้นในขณะที่ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า BOJ จะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค.หรือเม.ย. หลังมีการประกาศผลการเจรจาด้านค่าจ้างประจำปีหรือ “ชุนโต (Shunto)” ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ โดยชุนโตเป็นการเจรจาด้านค่าจ้างระหว่างฝ่ายบริหารของภาคธุรกิจและสหภาพแรงงานญี่ปุ่น

ทางด้านนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ยืนยันในระหว่างการแถลงต่อรัฐสภาญี่ปุ่นในวันนี้ว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่า BOJ ยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบก็ตาม โดยถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นเพียงวันเดียวหลังจากนายชินอิจิ อุจิดะ รองผู้ว่าการ BOJ ส่งสัญญาณว่า BOJ จะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวพุ่งขึ้นและทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อวานนี้

BOJ กำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ -0.1% และกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% โดยให้เป็นระดับอ้างอิง หรือ “reference point” เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก และเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.พ. 67)

Tags: , , , , ,