IMF เผยหนี้สาธารณะทั่วโลกพุ่งทะลุ 100 ล้านล้านดอลล์ คาดหนี้อาจโตเร็วกว่าที่คิด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยในวันนี้ (15 ต.ค.) ว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกกำลังจะทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในปีนี้ และอาจพุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากกระแสการเมืองที่สนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้ยืมมากขึ้นและแบกรับต้นทุนที่สูงลิ่ว

รายงาน Fiscal Monitor ฉบับล่าสุดของ IMF ชี้ให้เห็นว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกจะพุ่งแตะ 93% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั่วโลกภายในสิ้นปี 2567 และจะเข้าใกล้ 100% ในปี 2573 ตัวเลขนี้จะสูงกว่าจุดสูงสุดที่ 99% ในช่วงวิกฤตโควิด-19 และเพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนที่การระบาดใหญ่จะทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาล

รายงาน Fiscal Monitor ที่เผยแพร่หนึ่งสัปดาห์ก่อนการประชุมประจำปีของ IMF และธนาคารโลกที่วอชิงตัน ชี้ให้เห็นว่า มีเหตุผลหนักแน่นที่ทำให้เชื่อว่าระดับหนี้ในอนาคตอาจพุ่งสูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้มาก โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือแนวโน้มการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

IMF ระบุในรายงานว่า “นโยบายการคลังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนมากขึ้น และข้อจำกัดทางการเมืองเรื่องภาษีก็ยิ่งเข้มงวดขึ้น” พร้อมเสริมว่า “แรงกดดันให้เพิ่มการใช้จ่ายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว สังคมผู้สูงวัย ปัญหาความมั่นคง และความท้าทายในการพัฒนาที่สั่งสมมานาน กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ”

รายงานระบุว่า การคาดการณ์ระดับหนี้มักต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อดูย้อนหลังไป 5 ปี ตัวเลขหนี้ต่อ GDP ที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าที่ประมาณการไว้เฉลี่ยถึง 10%

นอกจากนี้ หนี้อาจพุ่งสูงขึ้นอย่างมากจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจซบเซา เงื่อนไขทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น และความไม่แน่นอนของนโยบายการคลังและการเงินที่เพิ่มขึ้นในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ และจีน รายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์ “สถานการณ์เลวร้าย” ซึ่งรวมปัจจัยเหล่านี้เข้าไว้ด้วย โดยพบว่าหนี้สาธารณะทั่วโลกอาจพุ่งแตะ 115% ภายในเวลาแค่ 3 ปี ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบันถึง 20%

IMF ย้ำจุดยืนเดิมที่เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งรัดเข็มขัดทางการคลัง โดยชี้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งและอัตราว่างงานต่ำเป็นจังหวะเหมาะที่จะดำเนินการ อย่างไรก็ตาม IMF มองว่าความพยายามลดการขาดดุลการคลังในปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1% ของ GDP ในช่วง 6 ปีระหว่างปี 2566-2572 นั้น ยังไม่เพียงพอที่จะลดหรือรักษาระดับหนี้ให้คงที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การรัดเข็มขัดทางการคลังอย่างต่อเนื่องที่ 3.8% ของ GDP คือสิ่งจำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ แต่สำหรับสหรัฐฯ จีน และประเทศอื่น ๆ ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะยังไม่มีเสถียรภาพ จำเป็นต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มข้นกว่านี้มาก

IMF ชี้ว่าสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ที่คาดว่าหนี้จะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างบราซิล, สหราชอาณาจักร (UK), ฝรั่งเศส, อิตาลี และแอฟริกาใต้ อาจต้องเผชิญกับผลกระทบทางการเงินที่รุนแรง

เอรา ดาบลา-นอร์ริส รองผู้อำนวยการฝ่ายการคลังของ IMF กล่าวว่า “การผัดผ่อนการปรับตัวออกไปจะยิ่งทำให้ต้องแก้ไขปัญหาหนักขึ้นในอนาคต และการรอช้าก็เสี่ยงเช่นกัน เพราะประสบการณ์ในอดีตชี้ให้เห็นว่าหนี้ก้อนโตและการขาดแผนการคลังที่น่าเชื่อถืออาจทำให้ตลาดตอบสนองในทางลบ และจำกัดทางเลือกของประเทศในการรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”

ดาบลา-นอร์ริสชี้ว่า การตัดงบลงทุนภาครัฐหรือสวัสดิการสังคมมักส่งผลร้ายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการลดเงินอุดหนุนที่ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น เงินอุดหนุนน้ำมัน นอกจากนี้ ดาบลา-นอร์ริสยังเสนอว่า หลายประเทศยังมีช่องทางในการขยายฐานภาษีและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ส่วนบางประเทศอาจปรับระบบภาษีให้ก้าวหน้าขึ้นด้วยการเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์และภาษีเงินได้อย่างจริงจังมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 67)

Tags: ,