กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่น่าที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องกำหนดนโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคหลังโควิด แม้จำนวนประชากรในประเทศจะหดตัวลง และมีผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า หลังจากที่ IMF ได้ประชุมปรึกษาหารือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายต่าง ๆ แล้วนั้น IMF ยังระบุด้วยว่า รายได้จากภาษีของญี่ปุ่นเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นั้น ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นยังมีโอกาสเพิ่มรายได้ เช่น การปรับขึ้นภาษีการบริโภค (Consumption Tax)
IMF คาดว่า ญี่ปุ่นจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแตะ 3.3% ในปี 2565 หลังจากขยายตัว 1.6% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนด้านการคลังที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง, อัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง และปัญหาอุปทานตึงตัวทั่วโลกที่เริ่มคลี่คลายลง โดยก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหดตัวลง 4.5% ในปี 2563
แม้การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในญี่ปุ่นในขณะนี้ อาจชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2565 แต่ IMF ก็คาดว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 2 เมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดลดลง
อย่างไรก็ดี IMF เตือนด้วยว่า ความไม่แน่นอนที่ผิดปกติเกี่ยวกับโรคระบาดใหญ่อาจจะทำให้การบริโภคในภาคบริการฟื้นตัวล่าช้า หากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดเพื่อลดภาระของระบบสาธารณสุขท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 65)
Tags: GDP, IMF, ญี่ปุ่น, เศรษฐกิจญี่ปุ่น