นายปีแอร์ โอลิเวอร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะถูกแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มก้อนนั้นถูกถ่วงด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตชะลอตัวลง หลังประเทศต่าง ๆ ในแถบตะวันตกเคลื่อนไหวเพื่อลดการพึ่งพาจีน โดยในเดือนที่ผ่านมา กลุ่ม G7 ประกาศสร้างความหลากหลายด้านห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญและลดความเสี่ยง ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างจีนและตะวันตก
นายกูรินชาส์ระบุว่า การสร้างความหลากหลายด้านห่วงโซ่อุปทานสามารถทำให้เศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น แต่กระแสการลดความเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก
“มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะถูกแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มเป็นก้อน โดยแต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบการค้า ระบบการชำระเงิน และมาตรฐานทางเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง โดยไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับกลุ่มอื่น ๆ” นายกูรินชาส์กล่าวกับสำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย
นายกูรินชาส์กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจะกลายเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจโลกในหลากหลายรูปแบบและทำให้จัดการแก้ไขปัญหาที่มีร่วมกันได้ยากยิ่งขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศหรือหนี้สินจำนวนมหาศาลในประเทศที่มีรายได้ต่ำบางประเทศ
IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตชะลอตัวลง โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 2.8% ในปีนี้ ซึ่งลดลงจากการขยายตัวที่ 3.4% ในปี 2565 โดยจีน ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจโลก มีการฟื้นตัวอย่างไม่ต่อเนื่อง หลังยกเลิกการบังคับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยตัวเลขกิจกรรมภาคการผลิตจีนที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (31 พ.ค.) นั้นอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI ) ภาคการผลิตเดือนพ.ค.ของจีน อยู่ที่ระดับ 48.8 ลดลงจากระดับ 49.2 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนเข้าสู่ภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวที่รุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 49.4
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 66)
Tags: IMF, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, ปีแอร์ โอลิเวอร์ กูรินชาส์, เศรษฐกิจโลก