บมจ.เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล (ANI) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคระกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ราว 554,738,900 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมี บล.เกียรตินาคินภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ชำระเงินเจ้าหนี้ค่าหุ้นค้างจ่ายจากการซื้อธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน (Cargo General Sales Agent: Cargo GSA) (GSA) ในสิงคโปร์และมาเลเซียในช่วงปลายปี 65 รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และ/หรือการดำเนินการเพื่อขยายธุรกิจ
ANI เป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (III) ซึ่งถือหุ้น 51.7% หลังการเสนอขาย IPO จะลดสัดส่วนลงเหลือ 36.1% ขณะที่ผู้ร่วมทุนคือ Mr. Thomas Tay Nguen Cheong ถือหุ้น 47.5% จะลดเหลือ 33.2%
บริษัท บริษัทย่อยและบริษัทร่วมค้า อีก 28 บริษัท ประกอบธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน (GSA) ให้แก่สายการบินชั้นนำกว่า 20 สายการบินใน 8 ประเทศ และเขตบริหารพิเศษทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง จีน มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา ครอบคลุมเส้นทางการบินซึ่งมีปลายทางกว่า 400 ประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลก
บริษัททำสัญญาการให้บริการ GSA แต่เพียงผู้เดียว (Exclusive) ในแต่ละประเทศกับสายการบิน เพื่อดำเนินการด้านการตลาดและขายระวางสินค้าของสายการบินในเส้นทางขาออก (Outbound Flight) จากประเทศต้นทางไปยังปลายทางตามที่แต่ละสายการบินมีการให้บริการ การดำเนินการต่างๆ ของบริษัทฯ รวมไปถึงการขาย การทำการตลาด การจองระวางสินค้า การประสานงานด้านต่างๆ รวมไปถึงให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าของบริษัทฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้า (Freight Forwarder)
ทั้งนี้ บริษัทได้ลงนามในสัญญาให้บริการ GSA กับสายการบินชั้นนำแห่งหนึ่งที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศในสัดส่วนที่สูง 2 สัญญาเพื่อให้บริการใน 2 ประเทศในช่วงไตรมาส 4/65
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังประกอบธุรกิจให้บริการอื่นโดยบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจให้บริการแก่ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับภาคพื้นท่าอากาศยาน (Ground Handling) ของท่าอากาศยานชางงี (Changi Airport) ในสิงคโปร์
บริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มเส้นทางการให้บริการจากสายการบินที่เป็นคู่สัญญาของบริษัทในปัจจุบันไปยังเส้นทางใหม่ ทั้งในประเทศที่ดำเนินการอยู่หรือการขยายไปยังประเทศอื่นๆ บริษัทจะขยายฐานลูกค้าสายการบินเพิ่มเติม รวมถึงมีแผนจะพัฒนารูปแบบการขายที่หลากหลายใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันไปของลูกค้า ตัวอย่างเช่น ขายพื้นที่ระวางสินค้ารูปแบบพื้นที่บล็อก (Block space) กับผู้ที่ต้องการกำหนดอัตราราคาและปริมาณการขนส่งล่วงหน้าตลอดทั้งปี หรือการขายระวางสินค้าโดยการยื่นเสนอราคา (Tender basis) สำหรับลูกค้าที่มีปริมาณขนส่งจำนวนมากตลอดทั้งปี หรือช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
นอกจากนี้ บริษัทจะแสวงหาโอกาสในการเข้าเป็นตัวแทนสายการบินใหม่ๆ ในประเทศที่บริษัทดำเนินการอยู่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรจากการได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)
อีกทั้งอาจพิจารณาโอกาสเข้าซื้อกิจการและ/หรือลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจ GSA และ/หรือ บริษัทที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ของธุรกิจการขนส่งทางอากาศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ และเน้นย้ำสถานะการเป็น Pure-play air logistic player รวมทั้งการเพิ่มความสามารถในการทำกำไร
ผลประกอบการในช่วงปี 63-65 บริษัทมีรายได้รวมเติบโตต่อเนื่อง โดยมีรายได้เท่ากับ 4,842.7 ล้านบาท 7,791.3 ล้านบาท และ 7,744.1 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 26.5%
รายได้ที่เติบโตในปี 64 มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายระวางสินค้าสายการบินจาก (1) ปริมาณระวางสินค้าเพิ่มขึ้นจากสายการบินโดยสารบางแห่งเปลี่ยนมาขนส่งสินค้า และจากความสามารถของบริษัทในการจัดหาระวางสินค้าเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่ออุปทานระวางสินค้าที่ขาดแคลนในตลาด และ (2) ค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศที่เพิ่มขึ้นตามราคาตลาด
ส่วนรายได้ที่ลดลงในปี 65 เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการขายระวางสินค้าสายการบินจากค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศที่ลดลงตามราคาตลาด
บริษัทมีกำไรสุทธิในปี 63-65 เท่ากับ 548.5 ล้านบาท 861.9 ล้านบาท และ 815.5 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็น CAGR เท่ากับ 21.9% โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 313.4 ล้านบาท หรือ 57.1% ในปี 64 และลดลง 46.4 ล้านบาท หรือ 5.4% ในปี 65 นอกจากนี้ บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิ เท่ากับ 11.3% 11.1% และ 10.5% ตามลำดับ ลดลง 0.5% ในปี 65 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร
ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 8,495.9 ล้านบาท หนี้สินรวม 4,909.9 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 3,586 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมของบริษัทหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและหลังหักสำรองต่างๆ ทุกประเภทที่กฎหมายและข้อบังคับบริษัทกำหนดไว้ในแต่ละปี แต่ต้องไม่เกินจำนวนกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 66)
Tags: ANI, III, หุ้นไอพีโอ, เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล