อ.ปิง กูรูจาก บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ มอง Sentiment เชิงลบจากวิกฤตภาคการเงินในสหรัฐและยุโรปน่าจะจบภายในสัปดาห์นี้ หลังธนาคารกลางสหรัฐ กระทรวงการคลังสหรัฐ และธนาคารกลางสวิส รีบเคลียร์ปัญหาไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง เป็นจังหวะเก็บหุ้นแบงก์ เน้นตัวปันผลสวย เชื่อแนวโน้มดีขึ้นรับเศรษฐกิจไทยผงกหัวจากท่องเที่ยวบูม กำลังซื้อในประเทศกลับมา ชี้เป้า SCB, KBANK ถูกมาก พร้อมเก็งเฟดรอบนี้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แนะเกาะติดทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ-QT
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ กล่าวว่า วิกฤติภาคการเงินในสหรัฐและยุโรปที่เกิดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ต้องแยกปัญหาระหว่างแบงก์ท้องถิ่นในสหรัฐ กับยุโรป เป็นคนละปัญหา เพียงแต่มาเกิดในช่วงเวลาเดียวกัน จึงสร้างความตื่นตระหนกเรื่องเสถียรภาพของแบงก์ที่เกรงว่าจะลุกลามเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดแรงขายอย่างหนักและตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวลงแรง
แน่นอนตลาดหุ้นไทยก็รับผลกระทบในเรื่องนี้เช่นกัน โดยเฉพาะผลกระทบเชิงลบในแง่ Sentiment กังวลวิกฤตจะลุกลามมาถึง จึงทำให้เกิดแรงขาย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ แต่ถ้าเจาะไปดูจะพบว่าสถาบันการเงินของไทยไม่ได้ลงทุนหรือฝากเงินกับธนาคารท้องถิ่นของสหรัฐเลย ทำให้ผลกระทบจริงแทบไม่มี
“ผมคิดว่า Sentiment นี้น่าจะหายไปได้ภายในสัปดาห์นี้ เดี๋ยวก็ดีขึ้น แสดงว่าตลาดหุ้นไทยพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว …ตอนนี้แบงก์น่าเอา โดยเฉพาะแบงก์ที่จ่ายปันผลดีๆ เพราะมันไม่มีอะไรให้กลัวแล้ว ยุโรปก็จบแล้ว ฝั่งอเมริกาอาจจะดูงอแง แต่เฟดไม่ยอมให้มีเรื่องไปมากกว่านี้หรอก”
แนะนำ SCB ที่แถวๆ 100 บาท จ่ายเงินปันผล 5 บาท เท่ากับได้ผลตอบแทนราว 5% และเชื่อว่าราคาจะไต่กลับขึ้นไป สังเกตจากเศรษฐกิจช่วงนี้เริ่มเห็นการฟื้นตัว ดูได้จากกลุ่มค้าปลีกที่มีรายงานยอดขายสาขาเดิม (SSSG) เติบโตดีมากทั้งเดือนต่อเดือนและปีต่อปี ขยายตัวดีมากผลพวงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามา และกำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นมา
และ KBANK น่าสนใจ เพราะราคาลงมาถูก ทั้ง ๆ ที่ราคาลงมามากไม่ได้สมเหตุสมผล เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
นายประกิต มองว่า ในปีนี้เศรษฐกิจในสหรัฐถดถอยแน่นอน กำไรบริษัทจดทะเบียนก็จะแย่ ส่วนหนึ่งจากปัญหาแบงก์ท้องถิ่นอาจนำมาซึ่งกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น การระดมเงินฝากที่สูงขึ้น ดอกเบี้ยเงินฝากสูง การปล่อยสินเชื่อต่ำลง เศรษฐกิจก็ซบเซา แต่ก็เป็นโอกาสกับภูมิภาคที่ยังเติบโตอยู่ โดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิกที่รับผลพวงจากจีนเปิดประเทศ
“ตอนนี้ SET Index มี P/E 17 เท่า ไม่นับรวมช่วงโควิด ก็จะถือว่าระดับ 17 เท่าถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี ดังนั้นก็มองว่า เป็นจังหวะที่น่าลงทุน ดูแล้วไม่น่ามีวิกฤตอะไร”
ปัญหาในยุโรป มาจากธนาคารเครดิตสวิสที่เกิดปัญหาการบริหารงานในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง และถูกซ้ำเติมจาก ธนาคารซาอุดี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ออกมาประกาศหยุดใส่เงินทุนเพิ่ม กลายเป็นความตื่นตระหนก ราคาหุ้นเครดิตสวิสร่วงแรง
เครดิตสวิส เป็นแบงก์ใหญ่อันดับสองในสวิสเซอร์แลนด์ มีสินทรัพย์กระจายทั่วโลก เป็นแบงก์ที่มีธุรกรรมเชื่อมโยงกับระบบการเงินในโลกค่อนข้างมาก หากล้มก็ทำให้ระบบการเงินโลกมีความเสี่ยง ดังนั้น จึงล้มไม่ได้
และยิ่งเจอปัญหาธนาคารท้องถิ่นในสหรัฐยิ่งทำให้ความกลัวแพร่กระจายออกไป ทำให้มีคนไปแห่ถอนเงินจากธนาคารเครดิตสวิส จากนั้นธนาคารกลางสวิสเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยใส่เงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และยังให้ UBS ธนาคารอันดับหนึ่งของสวิส เข้าไปซื้อกิจการเครดิตสวิส วงเงิน 3.23 พันล้านเหรียญ ซึ่งจบเร็วมาก ซึ่งหมายความว่าเขารู้ว่าปัญหาเครดิตสวิสใหญ่จริง ปล่อยไปยิ่งแย่
ส่วนกรณีที่ตราสารทางการเงินที่นับเป็นกองทุนสำรองส่วนเพิ่มชั้นที่ 1 (Additional Tier 1 หรือ AT1) ของเครดิต สวิส ถูกตัดเป็นศูนย์ ก็เป็นความเสี่ยง ทำให้ราคาหุ้นกู้ในตลาดปรับตัวลดลง เชื่อว่าการขายตราสารหนี้จะยากขึ้น ซึ่งก็ต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตามผลกระทบจากเรื่องนี้ไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีการลงทุนหุ้นกู้ในยุโรป แต่อาจกระทบความเชื่อมั่น
กลับมาฝั่งสหรัฐ ธนาคารท้องถิ่น SVB ถูกสั่งปิดกิจการ และ Signature Bank ถูกสั่งปิด ทำให้เกิดความกลัวแบงก์ท้องถิ่นอื่นๆจะมีปัญหา ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ กับ บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ก็รีบดับไฟ เข้าไปรับประกันเงินฝากของ 2 แบงก์ เฟดก็เสริมสภาพคล่องให้แบงก์ที่ยังดำเนินกิจการ ทางการสหรัฐยื่นมือมาช่วย ปัญหาน่าจะจบ แต่ก็ยังมีความเชื่อว่า ปัญหาน่าจะยังซ่อนอยู่ก็ดูเหมือนไม่จบดี ตลาดก็ยังกลัวอยู่ แม้ว่าเฟดก็พร้อมอัดฉีดสภาพคล่อง ฉะนั้นจะไม่เห็นแบงก์ไหนล้ม
นายประกิต คาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบนี้ (21-22 มี.ค.) ถ้าหากขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เท่ากับราดน้ำมันเบนซินลงบนกองเพลิง เพราะต้องยอมรับว่าหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาแบงก์ล้มมาจากการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เฟดก็ยังต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่อาจลุกลามมากขึ้น ตอนนี้เงินเฟ้อก็เริ่มถอย ฉะนั้นเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกสัก 1-2 ครั้งก็น่าจะจัดการเงินเฟ้อได้ เพียงอแต่ย่าขึ้นเยอะเกินไปและอย่าส่งสัญญาณอะไรให้ตลาดตกใจ
ตอนนี้ที่น่าสนใจคือเรื่อง dot plot ถ้าหากดอกเบี้ยขึ้นไม่เกิน 5.25% แสดงว่าจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งตลาดจะตอบรับในทางที่ดี ที่สำคัญรอบนี้ เฟดน่าจะส่งสัญญาณชะลอการคุมเข้มเชิงปริมาณ (QT)เพราะไม่เกิดผลดีกับตลาด และกลับมาให้ความสำคัญการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน
“ลุ้นเฟดชะลอทำ QT ก็จะดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงระดับหนึ่ง และกลุ่มหุ้นในภูมิภาคเติบโต ดีต่อเอเชียแปซิฟก และไทย ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น”นายประกิตกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 66)
Tags: การเงิน, ตลาดหุ้นไทย, ธนาคารกลางสหรัฐ, บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์, ประกิต สิริวัฒนเกตุ, วิกฤตการเงิน, หุ้นแบงก์, เฟด, เศรษฐกิจโลก