HotIssue: ถอดรหัส กนง. ดับฝันลดดอกเบี้ย จับสัญญาณตรึงยันสิ้นปี

กูรูเก็งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดนี้ 12 มิ.ย. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม 2.50% และแนวโน้มจะตรึงอัตรานี้ไว้ตลอดทั้งปี 67 ก่อนชั่งน้ำหนักเศรษฐกิจอีกครั้งจากความไม่แน่นอนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคส่งออก ประสิทธิผลการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ตลอดจนมาตรการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

มัดรวมเหตุผล กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผน โกลบอลมาร์เก็ต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ BAY เคยให้มุมมองว่า กนง.มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ คือ ช่วงกลางปี และไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 แต่ล่าสุดได้ปรับมุมมองใหม่ โดยคาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ตลอดทั้งปี จากปัจจัยต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้

1.การขยายตัวทางเศรษฐกิจ: ช่วงที่เหลือของปีนี้ กนง.น่าจะมองว่ามีแรงส่งเข้ามาเพิ่มขึ้น คือการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ หลังจากความล่าช้าของงบประมาณปี 67 กว่า 7 เดือนเคยเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่านสภาฯมาแล้วการเบิกจ่ายก็จะเร่งตัวขึ้น กลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีให้เติบโตได้ดีกว่าไตรมาส 4 ปีก่อน และไตรมาส 1 ของปีนี้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังสามารถฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งแรงหนุนสำคัญของการบริโภคภาคเอกชน

2. อัตราเงินเฟ้อ: แม้ปัจจุบันเงินเฟ้อจะหลุดกรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3% จากผลกระทบของมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ด้วยการอุดหนุนราคาพลังงาน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซหุงต้ม จึงทำให้ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่หลังจากนี้เมื่อมาตรการต่าง ๆ ทยอยสิ้นสุดลง อัตราเงินเฟ้อในช่วงจากนี้ไปก็จะค่อย ๆ ปรับสูงขึ้น คาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ราวปลายปีนี้

3. เสถียรภาพการเงิน: เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ กนง.ให้ความสนใจไม่แพ้กัน เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า กนง.มีความกังวลว่าหากทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนหันกลับไปกู้หนี้ยืมสินกันมากขึ้น เป็นการสะสมความเปราะบางในระยะยาวให้กับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกู้ที่ไม่ได้นำไปต่อยอดความมั่งคั่ง หรือไปต่อยอดในระบบเศรษฐกิจ เช่น การกู้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน, การกู้ไปจ่ายหนี้บัตรเครดิต เป็นต้น ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นไปเกิน 90% ของ GDP แล้ว

“ดังนั้น ถ้าเราประมวลทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพของระบบการเงิน เราก็มองว่า มีแนวโน้มที่การประชุม กนง.รอบเดือนมิ.ย.นี้ น่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5%” น.ส.รุ่ง กล่าว

นอกจากนี้ การที่ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบางแห่ง ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงบ้างแล้ว ซึ่งเป็นมาตรการเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ก็น่าจะมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากกว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นเหมือนการเหวี่ยงแห เพราะการลดดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลกระทบในด้านอื่น ๆ มากกว่า และมีต้นทุนด้านความเสี่ยงสูงกว่าในระยะยาว

“พอแบงก์พาณิชย์มีมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ก็คิดว่าจะช่วยเอื้อให้ กนง.สามารถจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.5% ได้อีกสักระยะหนึ่ง” น.ส.รุ่งระบุ

จับตาความเสี่ยงเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

น.ส.รุ่ง กล่าวถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบายช่วงครึ่งหลังของปี 67 ว่า ยังมีความเสี่ยงรออยู่ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของมาตรการทางการค้าของสหรัฐ ก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีช่วงปลายปี ขณะที่ปัจจัยในประเทศเอง ความต่อเนื่องของมาตรการทางการคลัง ประสิทธิภาพของแรงอัดฉีดทางการคลังต่อเศรษฐกิจภายในประเทศจะมีมากน้อยเพียงใด รวมถึงเงินเฟ้อจะเข้ากรอบเป้าหมายได้หรือไม่

“ความเสี่ยงเหล่านี้ เชื่อว่า กนง.ให้น้ำหนัก และติดตามดูอย่างต่อเนื่อง พร้อมมองว่า ณ สิ้นปี 67 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะยังคงอยู่ที่ระดับ 2.5%”

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นกลาง (neutral rate) ควรจะเป็นเท่าไรนั้น จะเห็นว่า กนง.เสียงส่วนใหญ่ยังคงมองว่าที่ระดับ 2.5% ยังคงสอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และเอื้อให้เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อได้ โดยที่ไม่ไปฉุดรั้งการเติบโต หรือไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะทะลุขอบบน

“แต่เราคิดว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ถ้าเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงจริง ๆ เรามองว่า กนง.ก็น่าจะมาทบทวนเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางกันใหม่ ว่า 2.5% อาจจะสูงไปนิด สำหรับเศรษฐกิจไทย” น.ส.รุ่งระบุ

วัฎจักรดอกเบี้ยขาลงเริ่มเมื่อไหร่?

โอกาสที่จะเห็น กนง.เริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายประเมินว่าน่าจะเป็นช่วงต้นปี 68 หรืออย่างเร็วอาจจะได้เห็นในปลายปีนี้ ถ้าเริ่มเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจแผ่วลงชัดเจนขึ้น เชื่อว่า กนง.คงจะเริ่มส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยนโยบายใกล้จะเข้าสู่วัฎจักรขาลงแล้ว

“เราคิดว่าปลายปีนี้ ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า ถ้าเริ่มมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจแผ่วชัดเจนมากขึ้น ก็น่าจะมีสัญญาณมาจากคนทำนโยบายเหมือนกันว่าเขาอาจจะเตรียมให้ผู้ร่วมตลาดเล็งถึงว่าดอกเบี้ยนโยบายใกล้สู่วัฏจักรขาลงแล้ว ดังนั้น เรามองว่าช่วงต้นปีหน้าน่าจะเป็นจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับเข้าสู่ขาลง” น.ส.รุ่ง ระบุ

จากการประเมินความเห็นของ กนง.ในการประชุมเดือนเม.ย.มองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงไปได้ มีแรงส่งเชิงบวกอยู่ อย่างไรก็ตาม มีการทิ้งท้ายว่า ความไม่แน่นอนยังมีอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคส่งออก ประสิทธิผลของการเบิกจ่ายภาครัฐ ตลอดจนมาตรการหรือนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ หาก กนง.เห็นว่ามีสัญญาณชัดเจนมากขึ้นว่าเศรษฐกิจอ่อนแรง ก็เชื่อว่า กนง.พร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่จะทำ

อย่ามองข้าม “ค่าเงินบาท-ดอกเบี้ยโลก”

อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ค่าเงิน เพราะหากไทยเริ่มปรับลดดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นานเกินไป จะทำให้กระแสเงินทุนไหลออกมากขึ้น เงินบาทจะยิ่งอ่อนค่า เมื่อเงินบาทอ่อนค่าหนักก็จะทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น เกิดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในด้านราคา ด้านต้นทุนสินค้านำเข้า จะสร้างความสลับซับซ้อน หรือความท้าทายให้กับคนทำนโยบายในระยะถัดไปโดยไม่จำเป็น

“อาจจะต้องดูเรื่องค่าเงินประกอบด้วย ดูดอกเบี้ยโลกประกอบด้วย จริงอยู่ที่เศรษฐกิจสหรัฐกับเศรษฐกิจของไทยบริบทต่างกัน ไม่ใช่ว่าเขาลด แล้วเราก็ต้องลด แต่มันจะมีความเชื่อมโยงกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ ผ่านตลาดการเงิน นั่นคือสิ่งที่เราเห็นเรื่องค่าเงินอยู่ทุกวันนี้”

โดยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.67) เงินบาทอ่อนค่าไป 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากสุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 67)

Tags: , ,