Heatstroke อันตรายหน้าร้อน! พบคนไทยเสียชีวิตแล้ว 61 ราย แนะ 7 วิธีป้องกัน

แม้ช่วงนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทย เริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว แต่ในหลายพื้นที่ของประเทศยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) เนื่องจากโรคนี้เกิดจากภาวะที่ร่างกายร้อนจัดเกิน 40 องศาเซลเซียส จนส่งผลกระทบต่ออวัยวะและระบบต่างๆ ภายในร่างกาย เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงปี 61 ถึงวันที่ 7 พ.ค. 67 มีรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะอากาศร้อน รวมทั้งสิ้น 200 ราย ซึ่งเฉพาะปี 67 มีรายงานผู้เสียชีวิต 61 ราย มีการรายงานเหตุการณ์จากทุกภาคทั่วประเทศ แต่มีรายงานสูงสุดในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ 33 ราย ตามมาด้วยภาคกลางและภาคตะวันตก 13 ราย และภาคเหนือ 10 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุอยู่ในช่วงวัยทำงานและสูงอายุ เพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และเกษตรกรรม

โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต คือ 49.2% มีโรคประจำตัว, 62.1% ดื่มสุราเป็นประจำ, 27.6% ทำงานกลางแจ้งสำหรับ กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ (ประมาณ 10 ล้านคนทั่วประเทศ) คนอ้วน (ประมาณ 13 ล้านคนทั่วประเทศ) และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดจนผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักกีฬา คนงานก่อสร้าง เกษตรกร หรือทหารที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน

“หากพบเห็นผู้ป่วยที่มีอาการตัวร้อนจัดแต่ไม่มีเหงื่อ ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง เป็นลม หมดสติ ให้สงสัยเบื้องต้นว่าเป็นฮีทสโตรก โดยยึดหลักในการปฐมพยาบาล คือการทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงให้เร็วที่สุดก่อนนำส่งโรงพยาบาล เช่น ย้ายผู้ป่วยมาในที่ร่ม จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ยกขาสูง ถอดเสื้อผ้า แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกายโดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ให้ดื่มน้ำ/ น้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยภาวะการขาดน้ำ จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669 ฟรี” นพ.อภิชาต กล่าว

สำหรับคำแนะนำในการป้องกันฮีทสโตรกด้วยตัวเอง มีดังนี้

1. ลดหรือเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุดของวัน (โดยเฉพาะช่วงเวลา 11.00-15.00 น. จะมีอากาศร้อนที่สุด)

2. ดื่มน้ำเปล่าในระหว่างวันอย่างน้อย 2-4 แก้ว/ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอกระหายน้ำ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่

3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง

4. สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีมีสีอ่อน หลวม น้ำหนักเบา

5. ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ควรเข้ามาพักในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกเป็นระยะ

6. ห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด โดยเฉพาะเด็กเล็ก รถที่จอดตากแดดโดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ อาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้เร็วมากภายใน 10-20 นาที

7. สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็วให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิด พาเข้าไปพักในที่เย็น มีอากาศถ่ายเทสะดวก หากมีอาการรุนแรง หรือหมดสติควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 67)

Tags: , , , ,