บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 โดยมีรายได้รวม (Total Revenue) เท่ากับ 22,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125% จากไตรมาส 1/64 โดยปัจจัยหลักมาจากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1 และ หน่วยที่ 2 (รวม 1,325 เมกะวัตต์) ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 64
ประกอบกับการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ SPP 12 โรง ภายใต้กลุ่ม GMP ทั้งจากราคาขายไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ และจากปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่โครงการโรงไฟฟ้า 12 SPP มีจำนวนลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น 34.7 เมกะวัตต์ จากอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และบรรจุภัณฑ์
ขณะเดียวกัน GULF ยังรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 465 เมกะวัตต์ในเยอรมนี จากความเร็วลมเฉลี่ยดีขึ้นจาก 9.8 เมตร/วินาทีในไตรมาส 1/64 เป็น 11.0 เมตร/วินาทีในไตรมาส 1/65 แม้ว่า Capacity Factor เฉลี่ยจะลดลงเหลือ 39% เมื่อเทียบกับ 41% ในไตรมาส 1/64 เนื่องจากการจำกัดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า (curtailment) โดยรัฐบาลเยอรมนี อย่างไรก็ตาม BKR2 ได้รับรายได้ชดเชยสำหรับปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าทั้งหมดที่ถูกจำกัดเสมือนว่าไม่ได้มีการ curtailment เกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ GULF
นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH จำนวน 1,100 ล้านบาทในไตรมาส 1/65 อีกด้วย
ทั้งนี้ กำไรขั้นต้นจากการขายในไตรมาส 1/65 เท่ากับ 4,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับ 2,941 ล้านบาทในไตรมาส 1/64 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นจากการขาย (Gross Profit Margin) ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 22.1% ลดลงจาก 33.1% ในไตรมาส 1/64 เนื่องจากมีสัดส่วนกำไรขั้นต้นของโครงการโรงไฟฟ้า IPP เพิ่มขึ้น ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานลม BKR2 ทำให้เฉลี่ยแล้วอัตรากำไรขั้นต้นของ GULF ลดลงตามสัดส่วนของกำไรขั้นต้นของโครงการโรงไฟฟ้า IPP ที่เพิ่มขึ้น
ประกอบกับในไตรมาส 1/65 มีต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 220.17 บาท/ล้านบีทียูในไตรมาส 1/64 เป็น 441.56 บาท/ล้านบีทียูในไตรมาสนี้ หรือเพิ่มขึ้น 101% ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.1671 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง (จาก -0.1532 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 0.0139 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก GULF มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ถึง 87% ซึ่งต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติจะถูกส่งผ่าน (pass through) ในรูปของรายได้ค่าไฟฟ้าไปยัง กฟผ. ในขณะที่มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพียงแค่ 13% จึงได้รับผลกระทบอย่างจำกัดจากราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น
ส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) ในไตรมาส 1/65 เท่ากับ 3,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 867 ล้านบาท หรือ 36% จากไตรมาส 1/64 สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลกำไรจากโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2564 ได้แก่ โรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1 และหน่วยที่ 2 ที่เปิดดำเนินการไปในเดือนมี.ค.และต.ค.64 นอกจากนี้ Core Profit ยังเพิ่มขึ้นจากการรับรู้ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 และจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH จำนวน 1,100 ล้านบาท
สำหรับกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 1/65 (ซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 3,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 108% จาก 1,632 ล้านบาทในไตรมาส 1/64
ณ วันที่ 31 มี.ค.65 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.79 เท่า ซึ่งสูงขึ้นจาก 1.77 เท่า ณ สิ้นปี 2564 โดยหลักเนื่องจากได้ทำการเบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า GPD ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 2,650 เมกะวัตต์ ประกอบกับ GULF ได้มีการออกหุ้นกู้จำนวน 24,000 ล้านบาท ในเดือนก.พ.65 เพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจ และชำระคืนเงินกู้บางส่วน
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปี 65 จะเน้นเรื่อง Decarbonization และ Digitalization
โดยในส่วนของ Decarbonization จะเน้นการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Pak Lay และโครงการ Pak Beng ได้เข้าไปเซ็น Tariff MOU กับ กฟผ. ช่วง ม.ค.และ เม.ย.ที่ผ่านมา และมีแผนเข้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ. ในไตรมาส 2/65
ในส่วนของ Digitalization นั้น ปัจจุบัน GULF ได้ขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) และ Blockchain Technology โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา GULF AIS และ Singtel ได้เข้าลงนามสัญญาร่วมพัฒนาธุรกิจ เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาที่ตั้ง Data Center และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ในช่วง เม.ย.ที่ผ่านมา Gulf Innova ยังได้เข้าลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นกับ Binance เพื่อร่วมกันลงทุนในธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยด้วย ปัจจุบัน กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการขอใบอนุญาตต่าง ๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ GULF ยังเข้าลงทุนในธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศอเมริกา (Binance US) และสกุลเงินดิจิทัล BNB ซึ่งถือเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมใน Ecosystem ของ Binance ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี Blockchain Infrastructure ระดับโลก
ทั้งนี้ GULF มองว่า cryptocurrency และ tokens เป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนในอนาคต และเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตไปได้อีกมากในประเทศไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 65)
Tags: GULF, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, ยุพาพิน วังวิวัฒน์, หุ้นไทย