นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กล่าวว่าบริษัทปรับเป้าหมายรายได้ปีนี้โตเป็น 80% จากเดิมคาดโต 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 49,983.74 ล้านบาท โดยหลักจะมาจากโครงการ โรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 3 และ 4 กำลังผลิตติดตั้ง 1,325 เมกะวัตต์จะทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนมี.ค.และ ต.ค.65 , โรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเลที่เวียดนาม (Mekong Wind) คาดว่าจะเริ่ม COD ครบ 128 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์รูฟท็อปผ่านบริษัท Gulf1 กำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์จะทยอย COD ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
บริษัทยังรับรู้ผลประกอบการเต็มปีของโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1 และหน่วยที่ 2 รวม 1,325 เมกวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้า DIPWP ระยะที่ 1 กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ ที่ประเทศโอมาน ประกอบกับจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มปีจากการลงทุนใน บมจ.อินทัชโฮลดิ้งส์ (INTUCH) ด้วย
ขณะที่วิกฤตรัสเซียและยูเครน ยืนยันว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากเป็นค่าเชื้อเพลิงที่ภาครัฐรับผิดชอบโดยตรง ขณะเดียวกันบริษัทก็มีการป้องกันความเสี่ยงทั้งดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว 100%
นางสาวยุพาพิน กล่าวอีกว่า แผนดำเนินงานในปี 65 บริษัทยังคงเน้นลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,401 เมกะวัตต์ โครงการหลักเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ซึ่งดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 96-99% ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ทั้งหมด
รวมทั้งธุรกิจจัดหาก๊าซธรรมชาติ หลังจากในปี 64 บริษัทได้เข้าไปลงทุนในบริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (PTT NGD) โดยถือหุ้นเพิ่มเป็น 42% จากเดิม 40% ซึ่งมีการจำหน่ายก๊าซฯ ที่ 31.9 ล้านบีทียู/ปี และยังเพิ่มใบอนุญาตการนำเข้า LNG ด้วย เช่น ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ส่งผลทำให้บริษัทสามารถจัดหาและนำเข้าก๊าซฯ รวมทั้งสิ้น 7.8 ล้านตัน/ปี โดยมีอายุ 10 ปี และสามารถต่ออายุได้ คาดว่าจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานในอนาคตให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญได้
ด้านธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 615 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 128 เมกะวัตต์ คาดจะ COD ได้ภายใน 2-3 เดือนจากนี้ ขณะที่โครงการโซลาร์รูฟท็อป ปัจจุบัน COD ไปแล้ว 2 เมกะวัตต์ และมีลูกค้าเข้ามาในพอร์ตแล้ว 110 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม 64 เมกะวัตต์ และแจ้งยืนยันรับซื้อไฟฟ้าแล้วอีก 46 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำปากลาย กำลังการผลิต 770 เมกะวัตต์
ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและโลจิสติกส์ ได้ ปีที่ผ่านมาได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP Gross Cost) กับกรมทางหลวงเพื่อดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน- นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กิโลเมตร โดยงานหลักๆ ของบริษัทมีสัญญาแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างติดตั้งงานระบบ ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ระบบบริหารจัดการและควบคุมการจราจร ซึ่งมีกำหนดเวลา 3 ปีนับจากวันเริ่มต้นงานตามที่กำหนดในสัญญา
หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) รวมถึงการจัดเก็บค่าผ่านทางและนำส่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดให้แก่กรมทางหลวง ตลอดจนการซ่อมแซมบ รุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมดของโครงการ ทั้งในส่วนงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุนและในส่วนงานที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน เป็นระยะเวลา 30 ปี คาดว่าจะเปิดดำเนินงานในปี 66
นอกจากนี้ยังมีการลงนามก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ซึ่งมีความสามารถในการรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้อย่างน้อย 4 ล้านทีอียูต่อปี โดยมีสัญญารวมทั้งสิ้น 35 ปี เปิดดำเนินการเฟสแรกปี 68 , เฟส 2 ปี 72
ส่วนธุรกิจดิจิทัล ปีที่ผ่านมาได้เข้าทำคำเสนอซื้อขาย INTUCH โดยสัดส่วนที่ซื้อได้เพิ่มขึ้นเป็น 42% จากเดิมถือ 19% ซึ่งปีนี้จะเป็นปีแรกที่บริษัทฯ สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนเข้ามาเต็มปี และบริษัทฯ ยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ Singapore Telecommunications Limited (Singtel) เพื่อร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย โดยร่วมลงทุนในสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากันที่ 50% คาดว่าจะมีกำไรราว 12-13 ล้านบาท/เมกะวัตต์/ปี
ทั้งนี้ บริษัทวางงบลงทุนใน 3-5 ปีข้างหน้าไว้ที่ 1 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่ราว 70-75% จะใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์รูฟท็อป โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ (เขื่อน) สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 30% ในปี 73 ส่วนที่เหลือจะใช้เงินลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติราว 10%, โครงสร้างพื้นฐานฯ 10% และดิจิทัล 5%
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคาดว่าสัดส่วนกำไรจะยังมาจากธุรกิจหลัก หรือ ธุรกิจพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น โรงไฟฟ้าก๊าซ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และคาดว่าธุรกิจดิจิทัลจะอยู่ที่ 15% ส่วนโครงศร้างพื้นฐานคาดอยู่ที่ 5%
ส่วนความคืบหน้าการร่วมทุนกับกลุ่ม Binance เพื่อร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการเจรจา Shareholders Agreement คาดจะสามารถเซ็นสัญญาได้เร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ภายในไตรมาส 2/65 เพื่อขอใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) และ แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าในการทำเรื่องของแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้เร็วๆ นี้
นางสาวยุพาพิน กล่าวว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 65 ได้มีมติอนุมัติให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ วงเงินไม่เกิน 80,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และใช้คืนเงินกู้ ที่ยืมมาซื้อหุ้น INTUCH โดยวงเงินดังกล่าวจะเป็นการขอเผื่อเอาไว้ ไม่ได้ออกและเสนอขายในคราวเดียว แต่จะทยอยออกและเสนอขายตามความต้องการใช้จริง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 65)
Tags: GULF, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, ยุพาพิน วังวิวัฒน์, หุ้นไทย