กลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกทั้ง 7 แห่ง (G7) กำลังหารือเรื่องการออกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกเพชรของรัสเซีย ซึ่งเป็นมาตรการซับซ้อนที่เสี่ยงทำให้ราคาเพชรพุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ การส่งออกเพชรของรัสเซียได้รอดพ้นจากการคว่ำบาตรของนานาประเทศเป็นส่วนใหญ่ หลังรัสเซียยกพลบุกโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือนก.พ.ปีที่แล้ว แม้มีการออกมาตรการคว่ำบาตรด้านการส่งออกพลังงาน, ธนาคาร และกลุ่มผู้มีอำนาจของรัสเซีย ขณะที่ยูเครนและบางประเทศในยุโรปเรียกร้องให้คว่ำบาตรอุตสาหกรรมเพชรของรัสเซีย
หอสังเกตการณ์ความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ (Observatory of Economic Complexity) ระบุว่า รัสเซียโกยรายได้ประมาณ 4.7 พันล้านดอลลาร์จากการส่งออกเพชรในปี 2564 ซึ่งทำให้รัสเซียกลายเป็นผู้ส่งออกเพชรรายใหญ่สุดอันดับ 8 ของโลก
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีระบุว่า เพชรไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำการซื้อขายเหมือนกับน้ำมัน หรือทองคำ แต่เพชรถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกเหนือไปจากอัญมณี เช่น งานขุดเจาะ ทันตกรรม และคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม บางประเทศ เช่น เบลเยียมซึ่งซื้อเพชรจากรัสเซียในปริมาณมากนั้น คัดค้านการให้สหภาพยุโรป (EU) ออกมาตรการคว่ำบาตรเพชรรัสเซียแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยต้องการให้ทั่วโลกมีส่วนร่วมในการคว่ำบาตรอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นการรับประกันว่า ตนเองจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว
“การหารือเรื่องคว่ำบาตรการส่งออกเพชรของรัสเซียนั้นดำเนินมาสักระยะแล้ว เพราะมีความเสี่ยงว่า รัสเซียอาจจะเปลี่ยนไปส่งออกเพชรให้กับประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้ร่วมวงการคว่ำบาตรแทน” นายเอ็ดเวิร์ด การ์ดเนอร์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทแคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 66)
Tags: การส่งออก, ตลาดอัญมณีโลก, ยูเครน, รัสเซีย, ราคาเพชร, อัญมณี