นายริชิ ซูแนค รัฐมนตรีคลังอังกฤษเปิดเผยว่า รัฐมนตรีคลังจากกลุ่มชาติอุตสาหกรรม G7 ได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อปฏิรูประบบภาษีโลกเพื่อให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล
รายงานระบุว่า นายซูแนคแถลงหลังการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G7 แบบตัวต่อตัวครั้งแรกในกรุงลอนดอน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ
นายซูแนคกล่าวว่า “ผมมีความยินดีที่จะประกาศว่า หลังจากหารือมานานหลายปี รัฐมนตรีคลังกลุ่ม G7 ได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในการปฏิรูประบบภาษีโลกเพื่อให้เหมาะสมกับโลกยุคดิจิทัล และที่สำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทต่างๆ นั้นจะเสียภาษีอย่างถูกต้องในสถานที่ที่เหมาะสม”
นายซูแนคเสริมว่า กลุ่ม G7 เห็นพ้องที่จะเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกอย่างน้อย 15% จากบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศนั้นๆ รวมถึงปราบปรามการหลบเลี่ยงภาษี
แถลงการณ์ระบุว่า “เรามุ่งมั่นที่จะบรรลุแนวทางการแก้ไขที่มีความยุติธรรมในการจัดสรรสิทธิ์การเก็บภาษี โดยแต่ละประเทศจะได้รับสิทธิ์ในการเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและและมีความสามารถในการทำกำไรมากที่สุด”
นอกจากนี้ กลุ่ม G7 จะดำเนินการอย่างเหมาะสมระหว่างการใช้กฎหมายภาษีระหว่างประเทศใหม่และการยกเลิกภาษีบริการดิจิทัลทั้งหมด
ทั้งนี้ ภาษีบริการดิจิทัลนั้นเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ และสเปน ในการทำให้บริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่ระดับโลกจ่ายภาษีอย่างยุติธรรมในประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ แต่สหรัฐกลับมองว่าเป้าหมายดังกล่าวนั้นมุ่งเป้าไปที่บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐอย่างไม่เป็นธรรม
ด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า การเก็บภาษีขั้นต่ำนี้จะยุติปัญหาที่บริษัทต่างๆ ย้ายเข้าไปดำเนินการธุรกิจในประเทศที่เรียกเก็บภาษีต่ำ และจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกขยายตัว รวมทั้งจะทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับโอกาสที่เสมอภาค และส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ สามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มิ.ย. 64)
Tags: G7, ประชุม G7, ริชิ ซูแนค, สหรัฐ, อังกฤษ, เจเน็ต เยลเลน