G20 ชี้แบงก์จำเป็นต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อ

คณะกรรมการอิสระ G20 ระบุในรายงานในวันนี้ (18 ก.ค.) ว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี (MDBs) จะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกี่ยวกับวิธีการดำเนินการ เพื่อขจัดความยากจน เพิ่มระดับการปล่อยสินเชื่ออย่างยั่งยืน 3 เท่าภายในปี 2573 และสร้างกลไกลการระดมทุนใหม่ ๆ เพื่อสานต่อเป้าหมาย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คณะกรรมการอิสระ G20 ซึ่งนำโดยนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ และนายเอ็น.เค. สิงห์ ประธานคณะกรรมาธิการการเงินที่ 15 ของอินเดีย นั้น ได้รับมอบหมายจากกลุ่ม G20 ให้เสนอการปฏิรูปสำหรับธนาคาร MDBs โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มเงินทุนสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และอื่น ๆ

รายงานที่จัดทำขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G20 ที่เมืองคานธีนคร รัฐคุชราตทางตอนเหนือของอินเดีย ระบุว่า “ไม่ว่าจะเป็นในรายบุคคล หรือโดยรวม ธนาคาร MDBs จะต้องกลายเป็นตัวแทนที่มีประสิทธิภาพของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด เพื่อบูรณาการวาระการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

รายงานระบุอีกว่า ธนาคาร MDBs เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือธนาคารโลก (World Bank) จะต้องร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อลด กระจาย และจัดการความเสี่ยง เพื่อทำให้ต้นทุนของเงินทุนลดลง

คณะกรรมการอิสระ G20 กล่าวว่า การใช้จ่ายเพิ่มเติมประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปีภายในปี 2573 เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เพื่อลงทุนเพิ่มขึ้นในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอื่น ๆ

ในจำนวนนี้ เม็ดเงินประมาณ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ควรใช้ไปกับโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 เท่านับตั้งแต่ปี 2562 และต้องใช้เงินอีก 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายอื่น ๆ รวมถึงการใช้จ่ายด้านสุขภาพและการศึกษาที่เพิ่มขึ้น 75%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 66)

Tags: ,