นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมกันเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมการให้สินเชื่อแก่ Supply Chain การส่งออก
ซึ่งประกอบด้วย 1.สินเชื่อ EXIM เพื่อซัพพลายเออร์ส่งออก และ 2. สินเชื่อ EXIM Logisitcs โดยเป็นการนำ บสย. เข้ามาแทนหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยสมบูรณ์ และปลดล็อกให้ “บุคคล” สามารถกู้เงินทำธุรกิจ เพื่อส่งมอบวัตถุดิบให้ผู้ส่งออก เติมเต็มสภาพคล่องให้แก่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อกระตุ้นการส่งออกของไทยท่ามกลางปัจจัยท้าทายในปัจจุบัน
1. สินเชื่อ EXIM เพื่อซัพพลายเออร์ส่งออก สำหรับนิติบุคคล และบุคคลที่ผลิต/จำหน่ายสินค้าและบริการให้แก่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมดำเนินธุรกิจส่งออก วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย Prime Rate (เท่ากับ 5.75% ต่อปี ณ ปัจจุบัน) ตลอดอายุโครงการ 5 ปี ใช้เพียงหนังสือค้ำประกัน บสย. ร่วมกับผู้บริหารหลัก และ/หรือนิติบุคคลค้ำประกัน พิเศษลดดอกเบี้ยอีก 0.75 % ในปีแรก สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีเอกสารรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามที่ธนาคารกำหนด
2. สินเชื่อ EXIM Logistics สำหรับผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งทางเรือ ทางบก และทางอากาศ วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 5.0% ต่อปีในปีแรก สำหรับวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้เพียงหนังสือค้ำประกัน บสย. ร่วมกับบุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกันเท่านั้น พิเศษลดดอกเบี้ยอีก 0.50% ใน 2 ปีแรกสำหรับผู้เข้าร่วมงานและลงทะเบียนในกิจกรรมต่าง ๆ ของ EXIM BANK หรืออยู่ในสมาคมหรือเป็นสมาชิกตามที่ธนาคารกำหนด
โดยผู้สนใจสามารถขอรับบริการได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 มีนาคม 66 และหากขอสินเชื่อภายในวันที่ 30 มิถุนายน 65 จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ต่อปีในปีแรก ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ค่าธรรมเนียม Front-end Fee รวมลดเหลือเพียง 1% จากเดิม 2% กรณีใช้ บสย. ค้ำประกันร่วม เพื่อลดภาระผู้ประกอบการเพิ่มเติม
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวด้วยว่า การส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 65 แต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้ลุกลามจนกลายเป็นสงครามตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้บั่นทอนทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงราว 5% นับตั้งแต่เกิดสงคราม
ความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เปรียบเสมือน “มะเร็ง” ที่อาจลุกลามและสร้างแรงกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แม้ในระยะแรก อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงจำกัด แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบทางอ้อมด้านราคา (Price Effect) ที่ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่รัสเซียและยูเครนมีส่วนแบ่งในตลาดโลกค่อนข้างมาก ที่เห็นได้ชัดได้แก่ สินค้ากลุ่มพลังงาน กลุ่มธัญพืชที่จะกระทบต่อการผลิตอาหาร และกลุ่มแร่หายากที่จะกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมตามมา
ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยก้าวข้ามความเสี่ยงดังกล่าว และขยายตัวได้ต่อเนื่อง นายรักษ์ กล่าวว่า ผู้ส่งออกไทยภายใต้โลกยุค Next Normal ต้องพลิกโฉม Supply Chain ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การผลิต การกระจายสินค้า การขาย และตัวสินค้าเอง กล่าวคือ การหาวัตถุดิบเพื่อป้อนกระบวนการผลิตมุ่งเน้นแหล่งใกล้ ๆ โดยเฉพาะภายในประเทศหรือภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนวัตถุดิบ หรือข้อจำกัดของการขนส่งข้ามประเทศ การผลิตในแต่ละขั้นตอนเน้นการยกระดับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าสินค้า การขนส่งและกระจายสินค้าต้องมีแผนสำรองอยู่เสมอ การขายสินค้าเน้นออนไลน์มากขึ้น สินค้าต้องมีอัตลักษณ์และสอดรับกับเมกะเทรนด์ยุคใหม่ อาทิ การใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ผู้ส่งออกไทยพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ (Local Content) เป็นส่วนใหญ่ คิดเป็น 70% ของมูลค่าส่งออกรวม และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ค่าขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น EXIM BANK จึงร่วมกับ บสย. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใน Supply Chain การส่งออกเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องและยกระดับคุณภาพธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก ผู้ส่งออก และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ตลอดทั้งกระบวนการของธุรกิจส่งออกและที่เกี่ยวเนื่องให้แข็งแกร่งและแข่งขันได้ในระดับสากล
ด้านนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า บสย. พร้อมจับมือพันธมิตรเพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยมีวงเงินค้ำประกันรวม 94,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS 9) ประกอบด้วย 3 โครงการสำคัญ ดังนี้
– โครงการ บสย. SMEs นำเข้า-ส่งออก วงเงิน 1,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปี
– โครงการ บสย. SMEs เติมเต็มรายย่อย วงเงิน 8,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปี
– โครงการ บสย. SMEs ดีแน่นอน วงเงิน 85,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี
นายสิทธิกร คาดว่า วงเงินค้ำประกันจำนวน 94,000 ล้านบาท จะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบอย่างน้อย 116,000 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือ SMEs ได้จำนวน 20,600 ราย และยังช่วยรักษาการจ้างงานในระบบกว่า 600,000 ตำแหน่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 65)
Tags: ช่วยเหลือเอสเอ็มอี, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, ปล่อยกู้, รักษ์ วรกิจโภคาทร, สิทธิกร ดิเรกสุนทร