นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU) มีมติยอมรับและขึ้นทะเบียนเอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-19 ของประเทศไทย หรือ Thailand Digital Health Pass บนหมอพร้อม ให้มีความเท่าเทียมกับเอกสารรับรองของสหภาพยุโรป (EU Digital COVID Certificate :EU DCC)
ดังนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคนจึงสามารถใช้เอกสารรับรองบน Thailand Digital Health Pass ของหมอพร้อม แสดงสถานะสุขภาพเกี่ยวกับโควิด-19 ก่อนเดินทางสู่ประเทศ/ดินแดนที่เข้าร่วมระบบการตรวจสอบเอกสารรับรองของสหภาพยุโรปนี้กว่า 60 ประเทศ/ดินแดน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565) รวมถึงสามารถใช้แสดงข้อมูลก่อนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในประเทศ/ดินแดน เหล่านั้นได้ด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดให้ประชาชนเริ่มทดสอบใช้งานระบบดังกล่าวได้แล้ว
“เชื่อมั่นว่าประชาชนทุกคนจะได้รับความสะดวกจากการใช้งานระบบ Digital Health Pass และสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้อย่างอุ่นใจและปลอดภัย”
นายอนุทิน กล่าว
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า การเข้าร่วม EU DCC นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนที่ถือเอกสารรับรองของประเทศไทยแล้ว ยังจะช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถติดตามและตรวจสอบสถานะสุขภาพของนักเดินทางจากประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรปที่ได้รับการขึ้นทะเบียน EU DCC ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ด้วย
โดยเจ้าหน้าที่ของไทย ร้านค้า/หน่วยงานต่างๆ สามารถสแกนคิวอาร์โคดตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวกับโควิด-19 ของนักเดินทางได้เช่นกัน เป็นการยกระดับระบบตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ของประเทศไทย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์โอมิครอนสามารถแพร่ระบาดได้ง่าย การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ จึงยังคงต้องระมัดระวังสูงสุดยึดมาตรการ VUCA คือ การฉีดวัคซีน การป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา COVID Free Setting และการตรวจ ATK เพื่อช่วยป้องกันการแพร่และรับเชื้อ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เอกสารดิจิทัลเกี่ยวกับโควิด-19 ของ EU DCC ใน Thailand Digital Health Pass จะแสดงข้อมูลสำคัญ 2 ส่วน คือ
1.ข้อมูลพื้นฐานจำเป็นในการยืนยันตัวตน ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก อายุ สัญชาติ และหมายเลขหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ในการเชื่อมโยงข้อมูลชื่อนามสกุลภาษาอังกฤษและหมายเลขหนังสือเดินทาง (passport number) ของผู้ที่ถือหนังสือเดินทางของประเทศไทย
2.ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ประกอบด้วย 1) ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีอายุ 180 วัน นับจากวันที่รับเข็มล่าสุด 2) ข้อมูลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR หรือ ATK เฉพาะรุ่นที่ EU รับรอง มีอายุ 7 วัน นับจากวันที่ตรวจล่าสุด และ 3) ข้อมูลการหายป่วยจากโควิด-19 มีอายุ 180 วัน นับจากวันที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วย โดยแสดงในรูปแบบ QR Code ที่มีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) กำกับ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งจะอ่านได้เฉพาะแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาตามมาตรฐานของ EU เท่านั้น
นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การที่สหภาพยุโรปรับรอง Thailand Digital Health Pass ให้มีสถานะเทียบเท่า EU Digital COVID Certificate ทำให้ระบบของประเทศไทยเชื่อมโยงกับระบบเอกสารวัคซีน 60 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศ และประเทศนอกสหภาพยุโรปที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรอง 33 ประเทศ โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนที่ได้รับการรับรองระบบนี้ อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้าประเทศต่างๆ จะมีความแตกต่างกันในเงื่อนไข ทั้งชนิดวัคซีนและชุดตรวจ ATK ที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปให้การยอมรับ จึงขอให้ตรวจสอบเงื่อนไขก่อนเดินทางทุกครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 65)
Tags: COVID-19, Digital Health Pass, EU, Thailand Digital Health Pass, ธานี ทองภักดี, สหภาพยุโรป, อนุทิน ชาญวีรกูล, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, โควิด-19