EPG มั่นใจยอดขายปี 66/67 โตตามเป้า หวังรัฐบาลใหม่ดึงต่างชาติเข้าลงทุนไทย

นายเฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) เปิดเผยว่า ในปีบัญชี 66/67 (เม.ย.66 – มี.ค.67) บริษัทมั่นใจว่ายอดขายจะเติบโตมากกว่า 13,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 30-33% และได้รับส่วนแบ่งกำไรการลงทุนในบริษัทร่วมค้าเติบโต 20% จากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 243 ล้านบาท โดยมองว่าเมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาดำเนินการภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจ EEC ส่งผลให้มีธุรกิจต่างประเทศเข้ามาในไทยมากขึ้น ผลักดันยอดขายของบริษัทโตตามเป้า ทั้งนี้บริษัทได้วางแผนการเติบโตจากการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้

– ธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 8-10% โดยธุรกิจในประเทศมีปัจจัยสนับสนุนจากการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มธุรกิจต่างๆ มายังประเทศไทย Aeroflex ได้รับคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าโครงการ เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งสั่งซื้อสินค้าประเภทฉนวน Aeroflex สำหรับหุ้มท่อ และ ฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา (Aero-Roof) อีกทั้ง ได้รับคำสั่งซื้อฉนวนเพื่อใช้สำหรับรถบัส EV สำหรับธุรกิจในต่างประเทศมุ่งเน้นทำการตลาดในสหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น โดย Aeroflex USA Inc. สหรัฐอเมริกา มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจึงสามารถขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มลูกค้าขายส่ง และ กลุ่มลูกค้าโครงการ ได้แก่ EV / Semiconductor และ อาหาร เป็นต้น โดยตั้งแต่เดือนต.ค. 66 เป็นต้นไป Aeroflex USA Inc. สหรัฐอเมริกา จะออกสินค้าใหม่ Ultralow smoke ฉนวนยางผลิตจากวัสดุคุณสมบัติพิเศษ ก่อให้เกิดควันน้อย เพื่อนำไปใช้ในระบบ Air Ducting system ซึ่งฉนวน Aeroflex ผ่านการรับรองระดับสูงสุดจากรัฐบาลในสหรัฐอเมริกา

– ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 8-10% โดยยอดขายในไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 66/67 (ก.ค.-ก.ย. 66) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) เร่งตัวขึ้น บริษัทสามารถส่งสินค้าให้กับค่ายยานยนต์ที่มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง สินค้าประเภทหลังคาครอบกระบะ (Canopy) บันไดข้างรถกระบะ (Slide Step) และ ฝาปิดกระบะสไตล์บานสไลด์ (Roller Lid) มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และคาดว่าในไตรมาสที่ 3 ปีบัญชี 66/67 (ต.ค – ธ.ค.66) ยอดขายปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดตัวสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด

ธุรกิจในออสเตรเลีย ปัญหายานยนต์ขาดตลาดคลี่คลายแล้ว บริษัทมี Backlog ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 66/67 (ก.ค.-ก.ย. 66) เป็นต้นไป อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าเริ่มปรับลดลง ปัจจุบัน TJM มีร้านค้าสาขา 7 แห่ง โดยตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปีบัญชีจะมีร้านค้าสาขา TJM รวมทั้งสิ้น 15 แห่ง โดยจะเร่งให้เกิด synergy ในกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ในออสเตรเลีย

– ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 10-12% โดยได้ปรับปรุงระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และปรับกลยุทธ์การตลาดด้วยการขายสินค้าแบบไขว้ (Cross selling) ทั้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกระดับพรีเมียมและผลิตภัณฑ์ทั่วไปเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย คาดว่าในไตรมาสที่ 3 ปีบัญชี 66/67 (ต.ค – ธ.ค. 66) ยอดขายจะปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม เป็นปัจจัยภายนอก อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลต่อผลต่อยุทธศาสตร์ทั่วโลกเปลี่ยนไป ปัจจัยเรื่องค่าเงินซึ่งบริษัทได้ติดตามและมีมาตรการในการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งภัยธรรมชาติหรือโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งบริษัทได้ให้ความสำคัญโดยกระจายฐานการผลิตไปหลายแห่ง ทำให้เมื่อเกิดภาวะที่ไม่ปกติ บริษัทยังสามารถดำเนินการผลิตส่งสู่ตลาดได้ตามปกติ นอกจากนี้บริษัทยังได้ให้ความสำคัญกับคนเพื่อปิด สกัดทุกความเสี่ยงให้มากที่สุด

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีบัญชี 66/67 (เม.ย. – มิ.ย.66) บริษัทมีรายได้จากการขาย 2.98 พันล้านบาท โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 2.84 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 32% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 30-32% มีกำไรสุทธิ 309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ส.ค. 66)

Tags: , , ,