EIC-วิจัยกสิกรฯ มองส่งออกฟื้นหลังโควิดคลี่คลาย-บาทอ่อนหนุน คาดทั้งปีโตเกิน 12%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ รายงานมูลค่าการส่งออกเดือนก.ย. 64 ขยายตัว 17.1%YOY ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องในทุกสินค้า และตลาดสำคัญ ตามสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ของโลกที่ปรับดีขึ้นชัดเจนในช่วงเดือนก.ย. ส่งผลให้อุปสงค์มีการฟื้นตัว อีกทั้งผลกระทบจากการหยุดผลิตที่เกิดจากการระบาดโควิด-19 ก็ปรับดีขึ้นเช่นกัน

“การส่งออกเดือนก.ย. ฟื้นตัวจากช่วงก่อนหน้าตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโลกที่ปรับดีขึ้น โดยการส่งออกในช่วงเดือนก.ค. และส.ค. ปรับลดลงชัดเจนจากผลกระทบของการระบาดสายพันธุ์เดลตาทั่วโลก แต่สถานการณ์ระบาดได้ปรับดีขึ้นตั้งแต่เดือนก.ย. เป็นต้นมา จึงทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และส่งผลดีต่อภาคส่งออกของไทย”

บทวิเคราะห์ระบุ

EIC ประเมินว่า แม้การส่งออกจะมีทิศทางฟื้นตัวจากโควิด-19 แต่จะยังเผชิญกับปัจจัยกดดันใหม่ด้านการขาดแคลนพลังงานของโลกที่นำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น โดยสถานการณ์การขาดแคลนพลังงานของโลกในปัจจุบันเกิดมาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1. โควิด-19 ที่กระทบต่อการผลิตพลังงานในช่วงก่อนหน้า ทำให้อุปทานปรับลดลง ในขณะที่ช่วงปัจจุบันเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้อุปสงค์ปรับเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดการขาดแคลนพลังงาน

2. สภาพอากาศที่แปรปรวนกระทบต่อการผลิตพลังงานหลายประเภท เช่น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน อีกทั้ง หน้าหนาวที่กำลังมาถึง ก็จะเป็นปัจจัยเร่งความต้องการใช้พลังงานเพื่อสร้างความอบอุ่น

3. ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น กรณีการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเข้ายุโรปที่มีความไม่แน่นอนว่าจะเพียงพอหรือไม่ และความขัดแย้งระหว่างจีนและออสเตรเลียเรื่องถ่านหิน

4. การกำลังเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด (Energy Transition) ที่ทำให้การลงทุนผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลปรับลดหรือชะลอลง ขณะที่พลังงานสะอาดก็ยังไม่สามารถทดแทนได้เต็มที่ จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนพลังงานของโลกในปัจจุบัน โดยการขาดแคลนที่เกิดขึ้น ทำให้ราคาพลังงานหลายประเภทปรับสูงขึ้นอย่างมาก และนำมาซึ่งความกังวลด้านเงินเฟ้อและภาวะ stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจโตต่ำหรือหดตัว ขณะที่เงินเฟ้อเร่งตัวสูง)

“จากการวิเคราะห์ของหลายฝ่าย คาดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น ขณะที่เศรษฐกิจโลก แม้จะชะลอลงบ้างในระยะสั้นตามกำลังซื้อที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ดังนั้นความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ stagflation จึงยังมีไม่มากนัก”

บทวิเคราะห์ระบุ

EIC ระบุว่า ยังต้องจับตาเศรษฐกิจจีน ที่มีความเสี่ยงจากวิกฤตพลังงาน และภาคอสังหาริมทรัพย์จากกรณี Evergrande ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนอีกด้วย ขณะที่ปัจจัยกดดันภาคส่งออกไทยในด้านอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้ค่าระวางเรือและระยะเวลาการส่งมอบสินค้าอยู่ในระดับสูงกว่าปกติมาก

ถึงแม้การส่งออกไทย ยังมีปัจจัยกดดันหลายประการในช่วงที่เหลือของปี 64 แต่ EIC ยังคงคาดการณ์ที่ 15%YOY เนื่องจากข้อมูลการส่งออกล่าสุดยังสอดคล้องกับคาดการณ์เดิมที่มองไว้ว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะฟื้นตัวจากช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. ที่เป็นช่วงที่มีการระบาดหนักของสายพันธุ์เดลตาทั่วโลก แต่ระดับจะไม่ได้สูงเทียบเท่ากับในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

ในส่วนของปี 65 การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7% ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้การส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา จะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีหน้า ตามการเร่งตัวของเศรษฐกิจที่จะได้ผลดีจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปี 64 ภาคการส่งออกจะยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง แม้ในอีก 3 เดือนที่เหลือของปี อาจเห็นแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง จากปัจจัยในเรื่องของฐาน และ pent up demand (ความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว) ที่เริ่มลดลง แต่โดยรวมทั้งปีการส่งออกของไทยน่าจะยังขยายตัวอยู่ในระดับสูง และมีโอกาสที่ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกจะสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 12.4%

ทั้งนี้ ได้คำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น เศรษฐกิจโลกที่มีโมเมนตัมชะลอตัว การชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมในจีน ทั้งจากแนวทางการปฏิรูปต่างๆ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะที่ประเด็นค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอย่างมาก และปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกทั่วโลกรวมถึงไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในเดือนก.ย. 64 สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้นส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อีกทั้งเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่า หนุนให้การส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 17.1% จาก 8.9% ในเดือนส.ค. 64

โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 การส่งออกของไทยเติบโตได้ถึง 15.5% และ เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและอาวุธขยายตัวได้ที่ 20.4% สะท้อนความต้องการสินค้าในตลาดโลกยังสูง การส่งออกไปในประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการส่งออกไปใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่พลิกกลับมาขยายตัวที่ 8.2% จากที่ไม่เติบโตในเดือนส.ค. 64

ส่วนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ ส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เติบโตชะลอตัวลงเล็กน้อย ได้รับปัจจัยกดดันจากอาหารทะเลสดแช่แย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ที่เผชิญปัญหาการระบาดในโรงงานที่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ 1 เม.ย.-7 ต.ค. 64 พบโรงงานที่มีการระบาดอยู่ที่ 1,093 แห่ง โดย 5 อุตสาหกรรมหลักได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวคือ อุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม โลหะ และพลาสติก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,