ECB ออกรายงานเตือนนโยบายภาษี “ทรัมป์” บั่นทอนเสถียรภาพการเงินยูโรโซน

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยรายงานทบทวนเสถียรภาพด้านการเงิน (Financial Stability Review) รอบครึ่งปีเมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) โดยระบุว่า สถานการณ์ตึงเครียดด้านการค้าที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้สร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจยูโรโซน และยังระบุด้วยว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวอ่อนแอลงถือเป็นภัยคุกคามมากกว่าภาวะเงินเฟ้อสูงในกลุ่มยูโรโซนซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 20 ประเทศ

ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปแตะที่ระดับ 2% ในเดือนต.ค.

ECB ระบุว่า ตลาดการเงินกลับมาเผชิญกับความผันผวนอีกครั้งนับตั้งแต่มีการเปิดเผยรายงานครั้งก่อนในเดือนพ.ค. และคาดว่าตลาดมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากกว่าปกติ เนื่องจากการประเมินมูลค่าที่สูงเกินไปและความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูง

แม้ว่ารายงานดังกล่าวของ ECB ไม่ได้ระบุถึงชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเจาะจง แต่หลายประเทศทั่วโลกกำลังแสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนการของทรัมป์ที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมีแผนที่จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าในอัตราที่สูงกว่ามากจากบางประเทศ เช่นจีน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลว่า ผลกระทบจากการใช้มาตรการเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยฉุดค่าเงินยูโร หากการชะลอตัวของการส่งออกกระตุ้นให้ ECB ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น

หลุยส์ เดอ กินดอส รองประธาน ECB เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า การที่ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจของยูโรโซนมีความเสี่ยงมากขึ้น

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเน้นย้ำว่าพัฒนาการของเงินเฟ้อเป็นไปในทิศทางบวก แต่ในขณะเดียวกัน แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับไม่ค่อยดีนัก” เดอ กินดอส กล่าว พร้อมระบุถึงการคาดการณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรปว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนจะอยู่ต่ำกว่า 1% ในปี 2567 และจะสูงกว่าระดับ 1% เพียงเล็กน้อยในปี 2568

“เมื่อพิจารณาในแง่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางมาก เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้เพิ่มการบริโภค นอกจากนั้นยังเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกหลายด้าน ทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์ในยูเครน สถานการณ์ในตะวันออกกลาง และนโยบายที่คณะบริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯ อาจจะนำมาใช้ในอนาคต ซึ่งถือเป็นความไม่แน่นอนอีกชั้นหนึ่งเกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจยุโรป” เดอ กินดอสกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 67)

Tags: , , , ,