Decrypto: AI ผลกระทบต่อแรงงานในประเทศไทย

ในยุคดิจิทัลที่ AI (ปัญญาประดิษฐ์) กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในด้านแรงงานและการใช้ AI ภายในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานและสถานะของแรงงานในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเข้ามาของ AI ได้ทำให้บางตำแหน่งงานที่เคยต้องการแรงงานหรือความเชี่ยวชาญของมนุษย์ถูก AI แทนที่ เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำ และไม่เกิดความผิดพลาดจากความเหน็ดเหนื่อยหรือความเหนื่อยล้า แรงงานในบางภาคส่วนจึงต้องเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงในการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการบริการและภาคการผลิต ที่ต้องใช้ทักษะทางด้านดิจิทัล ดังนั้นการทำงานร่วมกับเครื่องจักรที่มีความเป็นปัญญาประดิษฐ์จึงกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้น

กฎหมายแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบันอาจยังไม่สามารถรองรับปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นจาก AI ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่จะมากระทบต่อความมั่นคงของแรงงานและสิทธิของแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การประกาศคุณสมบัติการรับสมัครรงานในตำแหน่งที่ AI สามารถจำลองหรือทำแทนได้ กฎหมายควรกำหนดให้ชัดเจนว่าองค์กรต้องระบุว่า ต้องการมนุษย์ที่มีความสามารถนั้น ๆ โดยตรง หรือมนุษย์ที่สามารถใช้ AI เพื่องานนั้นได้ อีกทั้งยังต้องมีการกำหนดเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบในกรณีที่ผลการทำงานหรือดำเนินงานก่อให้เกิดความเสียหายว่า นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้พัฒนา AI หรือผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น ๆ

ค่าแรงหรือค่าตอบแทนเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาให้กฎหมายเข้ามามีบทบาทในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนเมื่อ AI เข้ามามีบทบาทในงานต่าง ๆ มากขึ้น อาจทำให้นายจ้างกำหนดค่าแรงหรือค่าตอบแทนที่ลดลงเนื่องจากงานลดความซับซ้อนหรือปริมาณความรับผิดชอบที่ลดลง และในท้ายที่สุด AI อาจถูกกำหนดให้เป็นผู้ตัดสินใจหรือเป็นผู้พิจารณาการประเมินผลงานของลูกจ้าง กำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าแรง หรือที่มีผลกระทบต่อลูกจ้างมากที่สุด คือ AI อาจได้รับหน้าที่เป็นผู้ตัดสินว่าลูกจ้างมนุษย์คนใดสมควรถูกไล่ออกหรือให้ออกจากงาน ทำให้กฎหมายแรงงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการคุ้มครองและปกป้องสิทธิของแรงงานจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อให้แรงงานในประเทศได้รับความคุ้มครอง

แม้กระทั่ง แรงงาน (ข้าราชการ) ในหน่วยงานภาครัฐเองก็อาจจะได้รับผลกระทบจากการมาถึงของ AI ดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐจึงควรเป็นหน่วยงานหลักที่จะเป็นแกนนำในการศึกษา เตรียมตัวและปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทันท่วงที

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , ,