Decrypto: เงินดิจิทัล 10,000 บาท กับความเหมาะสมที่จะให้สถานะเป็น “เงินตรา”

นโยบายหลักของพรรคผู้นำรัฐบาลในปัจจุบัน คือ นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่กำลังอยู่ระหว่างการกำหนดกฎเกณฑ์สิทธิการได้รับเงินดิจิทัลดังกล่าวว่าประชาชนจะได้รับภายใต้เงื่อนไขใด แต่อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญที่ยังไม่ได้รับการอธิบาย คือ เงินดิจิทัลดังกล่าวจะมีสถานะเป็น “เงินตรา” ตามกฎหมายหรือไม่ หรือจะมีสถานะใดที่จะทำให้เงินดิจิทัลสามารถเป็นสื่อกลางในการซื้อขายและแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้

ในมุมมองของกฎหมาย เงิน คือ สิ่งที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ส่วนในมุมของของเศรษฐศาสตร์ เงิน คือ สิ่งที่ทุกคนยอมรับให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) และสามารถใช้วัดมูลค่าของบริการหรือสินค้าต่าง ๆ ได้ (Standard of Value) หรือกล่าวโดยสรุป คือ เงินในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ คือ สิ่งใดก็ได้ที่ทุกคนยอมรับให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั่นเอง

แต่ เงิน ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์นั้นไม่สามารถทำหน้าที่เป็น เงิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนสินค้าบริการ รวมถึงมีสมาชิกในสังคมเพิ่มขึ้นอย่างมาก สังคมจึงต้องหาสื่อกลางชนิดอื่น ๆ เพื่อมาใช้แลกเปลี่ยน จึงเกิดการสร้าง “เงินตรา” โดยได้รับการรับรองให้ใช้ได้ตามกฎหมายของสังคมนั้น ๆ

ในประเทศไทยได้รับรองให้ เหรียญกษาปณ์ และ ธนบัตร ที่จัดทำและนำออกใช้โดย กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เป็น “เงินตรา” ของประเทศไทยเพียงเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วในปัจจุบันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้มี เงินอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวคือ มูลค่าเงินนั้นจะถูกบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ หรือ e-money ซึ่งเป็นระบบรวมศูนย์ ซึ่งมี “เงินตรา” จริง ๆ อยู่ในระบบของผู้ให้บริการอยู่แล้ว ไม่มีการออกเงินตราใหม่ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจ หรือกล่าวคือมีเงินบาทหนุนเงินอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1

ดังนั้นแล้วเมื่อพิจารณาจากแนวนโยบายของรัฐดังกล่าว หากรัฐบาลไม่สามารถหาเงินตราที่มีอยู่แล้วนำเข้าสู่ระบบการเงินเช่นเดียวกันกับการใช้ระบบ e-money แล้วนั้น เงินดิจิทัล ซึ่งเป็นรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากระบบคอมพิวเตอร์ จับต้องไม่ได้ ไม่มีสื่อกลางเป็นวัตถุที่มีมูลค่าใด ๆ แทนตัวเงินดิจิทัล ก็จะไม่มีมูลค่า ทั้งนี้ ไม่ว่าจะถูกสร้างด้วยระบบบล็อกเชนหรือไม่ก็ตาม จึงเหลือทางเลือกเดียวคือการแก้ พ.ร.บ.เงินตรา ให้ยอมรับเงินดิจิทัลดังกล่าวให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันนี้มีเพียง เงินตรา สกุลเงินบาทไทย เท่านั้นที่จะใช้ชำระหนี้แล้วเจ้าหนี้จะไม่สามารถปฏิเสธการรับชำระหนี้ได้ ส่งผลเท่ากับการเพิ่มเงินตราในระบบเศรษฐกิจทันทีหลายแสนล้านบาทอาจส่งผลลบโดยตรงต่อเสถียรภาพทางการเงินเชิงระบบ หากไม่มีมาตราการในการบริหารจัดการที่เหมาะสม

นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท จึงเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่จะต้องเลือกทางที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการหางบประมาณเพื่อนำในใช้ในระบบเช่นเดียวกันกับ e-money หรือการกำหนดให้เงินดิจิทัลตามนโยบายสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ยังไม่ได้รับคำตอบจากผู้เสนอนำโยบายดังกล่าว

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 66)

Tags: , , ,