Decrypto: สกุลเงิน BRICS และ BRICS Digital Currency

BRICS เป็นคำย่อที่ใช้เรียกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa) กลุ่มประเทศ BRICS มีพื้นที่รวมกันมากกว่าหนึ่งในสี่ของโลกและมีประชากรรวมกันมากกว่าร้อยละ 40 ของประชากรโลก

แม้กลุ่ม BRICS จะไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเศรษฐกิจ หรือ สมาคมการค้าอย่างเป็นทางการเหมือนสหภาพยุโรป (EU) แต่มีข้อบ่งชี้ว่ากลุ่ม BRICS พยายามจะสร้างสมาคม หรือ พันธมิตรทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างน้ำหนักถ่วงดุลกับเศรษฐกิจฝั่งตะวันตก และส่งเสริมระเบียบโลกที่มีหลายขั้ว รวมถึงเปลี่ยนอำนาจทางเศรษฐกิจให้เป็นอำนาจการเมืองระดับภูมิภาค

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 กลุ่ม BRICS จะต้อนรับสมาชิกใหม่อีก 5 ชาติอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้ ชื่อกลุ่มยังคงใช้ว่า BRICS แต่บางครั้งอาจถูกเรียกว่า BRICS+ หรือ “บริกส์พลัส” เพื่อสะท้อนถึงการขยายตัวของกลุ่ม การมีสมาชิกเพิ่มจะทำให้กลุ่ม BRICS ครอบคลุมประชากรราว 3.5 พันล้านคน หรือราว 45% ของประชากรโลก

หากพิจารณาในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 44% อีกด้วย จากปัจจัยข้างต้น กลุ่ม BRICS จึงมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้อง “การเป็นตัวแทนและเสียงที่ยิ่งใหญ่” จากกลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตในเวทีโลก เพื่อเสริมสร้างความสมดุลและความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจโลก

แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS แต่ไทยได้ยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นปี 2023 และขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณา ได้มีการคาดการว่าการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ของไทยจะเป็นโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคต

เหตุผลในการตั้งสกุลเงินใหม่

กลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งประกอบไปด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการตั้งสกุลเงินใหม่ขึ้น เนื่องจากมีหลายปัจจัยทางการเงินและการเมืองที่เป็นเหตุผลหลัก ประการแรก ความท้าทายทางการเงินระดับโลกในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวของสหรัฐฯ ทำให้กลุ่ม BRICS ต้องการสำรวจความเป็นไปได้ในการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร นอกจากนี้ การตั้งสกุลเงินใหม่ยังเป็นการสนับสนุนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS เองได้ดียิ่งขึ้น

สกุลเงิน BRICS

แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดวันที่ชัดเจนในการเปิดตัวสกุลเงินใหม่ แต่ผู้นำของกลุ่มประเทศ BRICS ได้หารือถึงความเป็นไปได้นี้ในรายละเอียดมากขึ้น ในการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 14 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงกลางปี 2565 ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ได้กล่าวว่ากลุ่มประเทศ BRICS วางแผนที่จะออก “สกุลเงินสำรองใหม่ทั่วโลก” และพร้อมจะทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความยุติธรรมทุกราย

ในเดือนเมษายน 2023 ประธานาธิบดีบราซิล Luiz Inacio Lula da Silva ได้แสดงการสนับสนุนสกุลเงิน BRICS โดยกล่าวว่า “เหตุใดสถาบันอย่างธนาคาร BRICS จึงไม่สามารถมีสกุลเงินเพื่อใช้ในความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างบราซิลและจีน รวมถึงประเทศ BRICS อื่นๆ”

ในขณะที่มีการคาดเดาว่าอาจมีการประกาศสกุลเงินใหม่ในระหว่างการประชุมสุดยอด BRICS ปี 2023 ในเดือนสิงหาคม แต่สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่ง Maasdorp ได้กล่าวว่า “การพัฒนาสิ่งอื่นใดที่เป็นทางเลือกนั้นเป็นความทะเยอทะยานระยะกลางถึงระยะยาวมากกว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอแนะในการสร้างสกุลเงิน BRICS”

BRICS Digital Currency

แม้ว่าประเทศ BRICS ยังไม่มีสกุลเงินดิจิทัลเฉพาะของตนเอง แต่ระบบการชำระเงินที่ใช้บล็อกเชนของ BRICS กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ เป็นที่รู้จักในนามแพลตฟอร์มการชำระเงินแบบหลายด้านของ BRICS Bridge ซึ่งจะเชื่อมโยงระบบการเงินของประเทศสมาชิกโดยใช้เกตเวย์การชำระเงินสำหรับการชำระหนี้ด้วยสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางของ BRICS หรือที่เรียกว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank: NDB)

ระบบที่วางแผนไว้จะทำหน้าที่เป็นทางเลือกแทนแพลตฟอร์มการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในปัจจุบัน ซึ่งก็คือระบบ Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication (SWIFT) ซึ่งถูกครอบงำด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ

ข้อดีของสกุลเงิน BRICS

สกุลเงินใหม่อาจมีประโยชน์หลายประการสำหรับประเทศ BRICS รวมถึงธุรกรรมข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการรวมทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชน สกุลเงินดิจิทัล และสัญญาอัจฉริยะ สกุลเงินดังกล่าวสามารถปฏิวัติระบบการเงินโลกได้ ซึ่งสามารถส่งเสริมการค้าและบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ BRICS และประเทศอื่นๆ ได้อีกด้วย

ผลกระทบต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ

การสร้างสกุลเงินใหม่ของ BRICS อาจส่งผลกระทบต่อสถานะของเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินสำรองชั้นนำของโลก ซึ่งในปัจจุบัน เงินดอลลาร์ถูกใช้ในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินประมาณร้อยละ 88 และ ร้อยละ 59 ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั้งหมดที่ถือโดยธนาคารกลางทั่วโลก การใช้เงินดอลลาร์ในการซื้อขายน้ำมันและการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศในอัตราสูงทำให้ดอลลาร์มีอำนาจเหนือกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในตลาดโลก

การลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐโดยการสร้างสกุลเงิน BRICS อาจทำให้สถานะของเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสใหม่ในการพัฒนาสกุลเงินในภูมิภาคต่างๆ และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต

ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการค้า การลงทุน และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 67)

Tags: , , ,