เมื่อเราก้าวมาสู่ยุคที่ธุรกรรมต่าง ๆ สามาถทำได้ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนก็เริ่มจะขยับเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ภาครัฐและภาคเอกชนจึงได้เริ่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยสังเกตได้จากการที่มีการออกสกุลเงินดิจิทัลและช่องทางการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งจากฝั่งภาครัฐคือ การใช้ “Retail CBDC” หรือสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. จึงเป็นเรื่องที่น่าชวนมาทำความเข้าใจว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างจาก PromptPay และ Cryptocurrency อย่างไร
Retail CBDC ย่อมาจาก Retail Central Bank Digital Currency คือ เงินบาทที่เปลี่ยนรูปแบบจากธนบัตรหรือเหรียญไปเป็นรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่ง ธปท.มุ่งเน้นศึกษาเรื่อง Retail CBDC เพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าถึงและใช้เงินดิจิทัลในการชำระเงินในชีวิตประจำวันของประชาชน
นอกจากนี้ Retail CBDC จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินที่เข้าถึงง่าย มีความปลอดภัยสูง และสามารถรองรับการนำเทคโนโลยีใหม่มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อีกทั้ง Retail CBDC จะเป็นระบบการชำระเงินรายย่อยที่เอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึง เชื่อมต่อ และพัฒนาบริการทางการเงินใหม่ ๆ ได้ในอนาคต
PromptPay ที่เรารู้จักมักคุ้นกันดี เป็น “ระบบ” โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชำระเงินที่ช่วยให้ผู้ใช้โอนเงินจากบัญชีธนาคารผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่มีค่าธรรมเนียม เพียงแค่ใช้หมายเลขโทรศัพห์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนแทนหมายเลขบัญชีธนาคาร
ขณะที่ Retail CBDC เป็นทั้ง “เงินสดรูปแบบดิจิทัล” และ “ระบบ” ช่องทางการชำระเงินสำหรับประชาชน โดยมี ธปท. เป็นผู้ออกและดูแลรักษาการใช้งานของระบบนี้
จุดต่างสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องความสามารถในการเขียนเงื่อนไขลงบนเงิน (Programmable Money) ซึ่ง PromptPay ไม่สามารถทำได้ แต่ Retail CBDC สามารถกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ตามต้องการ นับว่าเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่มาพัฒนาระบบการชำระเงินในยุคดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ดังนั้น ในอนาคตหากมีการออกใช้ Retail CBDC อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในแง่การชำระเงิน เพราะสามารถเลือกใช้ควบคู่ไปกับ PromptPay ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้
เมื่อนำ Retail CBDC มาเปรียบเทียบกับ Cryptocurrency ซึ่งมาลักษณะเป็นสกุลเช่นเดียวกัน หลายคนยังสับสนว่ามันต่างกันอย่างไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า Cryptocurrency คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยมีการใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัส (Cryptography) เพื่อป้องกันและยืนยันธุรกรรมผ่านระบบ Blockchain
อย่างไรก็ตาม การที่ Cryptocurrency เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชนและไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ มาเป็นการสนับสนุน ทำให้มูลค่ามีความผันผวนสูงตามความต้องการของนักลงทุนในการซื้อขาย ซึ่ง Retail CBDC ที่ออกโดย ธปท. มีลักษณะแตกต่างจาก Cryptocurrency เช่น Bitcoin และ Ripple (มีทั้งที่สามารถระบุตัวผู้ออกได้แน่ชัด และที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ออกได้) ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ยังไม่ยอมรับให้เป็นเงินที่ใช้เพื่อชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) เช่น Retail CBDC ที่ไม่มีความผันผวน มีมูลค่าคงที่ เช่น 1 CBDC = 1 บาท วัตถุประสงค์ออกมาเพียงเพื่อใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ จึงไม่สามารถนำมาซื้อขายเพื่อเก็งกำไรได้ ในขณะที่ Cyptocurrency อาจมีความผันผวน มูลค่าขึ้นลงได้ตลอดเวลาและอาจจะถูกเก็บภาษีบนกำไรที่ได้จากการเทรด
ในแง่ของการใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ให้สมาชิกในเครือข่ายสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล และทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลาง (peer-to-peer) จะเห็นได้ว่า Retail (BDC อาจจะใช้หรือไม่ใช้ DL ในการสร้างและประมวลผลก็ได้ ส่วน PromptPay ไม่ได้ใช้ DLT ในขณะที่ Cryptocurrency ใช้ DLT
อย่างไรก็ดี มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับ การใช้ Retail CBDC ว่าจะทำให้ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของผู้ใช้หมดไปหรือไม่ ซึ่งสำหรับการใช้ Retail CBDC ในประเทศไทย ธปท. ได้ออกแบบระบบที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและไม่อนุญาตให้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลไปในการทั่วไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังจะเห็นข้อมูลการทำธุรกรรมในภาพรวม และมีกลไกเพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมที่ต้องสงสัยหรือธุรกรรมที่ผิดกฎหมายได้
ท้ายที่สุด เมื่อเราปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนเริ่มหันมาทำธุรรมในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น การมีอยู่ของ Retail CBDC อาจเป็นหมากสำคัญจากภาครัฐ และจะกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูงเพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนในสังคมไร้เงินสดที่กำลังย่างก้าวเข้ามานั่นเอง
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ นายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
และนายชารีฟ วัฒนะ ที่ปรึกษากฎหมาย กลุ่มบริษัทสำนักงานกฎหมายอเบอร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 66)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, Retail CBDC, คริปโทเคอร์เรนซี, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ, สังคมไร้เงินสด, สินทรัพย์ดิจิทัล