นาย Eric Adams นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กป้ายแดงประกาศว่าจะรับเงินเดือนเป็น “Bitcoin”, GMO Internet บริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นประกาศจ่ายเงินเดือนพนักงานเป็น “Bitcoin”, รัฐบาลบราซิลและอาร์เจนตินามีแผนจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น “Bitcoin”
ข้อเท็จจริงข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในต่างประเทศ ซึ่งทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า “Bitcoin” หรือ “คริปโทเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากนายจ้างและลูกจ้างประจำตกลงจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างเป็น “Bitcoin” หรือ “คริปโทเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) จะมีผลบังคับตามกฎหมายแรงงานหรือได้รับการรับรองตามกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่
สิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณากฎหมายสำคัญที่เป็นที่มาและเป็นบ่อเกิดของนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง กฎหมายฉบับแรกคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า “สัญญาจ้างแรงงาน” หมายถึง สัญญาระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างตกลงจะทำงานให้นายจ้าง และตกลงจะให้ “สินจ้าง” หรือค่าจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้ให้คำจำกัดความไว้ “สินจ้าง” จึงเป็นเงินและสิ่งของ หรือทรัพย์สินอื่น หรือจ่ายเป็นสิ่งอื่นก็ได้ แต่กฎหมายสำคัญอีกฉบับ คือ กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดนิยามของ “ค่าจ้าง” ไว้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม “ค่าจ้าง” ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหมายถึง “เงิน” เท่านั้น นายจ้างในกิจการที่อยู่ในขอบเขตการใช้บังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นทรัพย์สินอื่นไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดลักษณะของค่าจ้างเอาไว้โดยเฉพาะ
ความเห็นของผู้เขียนเห็นว่า การที่กฎหมายกำหนดให้ค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานต้องเป็น “เงิน” ก็เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาว่า “เงินประเภทใดเป็นค่าจ้างหรือไม่” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะค่าจ้างเป็นพื้นฐานต่อการคำนวณประเภทอื่น ๆ เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีและสังคมพัฒนาขึ้นทำให้คนจำนวนไม่น้อยยอมรับมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลแลกกับการทำงาน และกลับพบว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานอาจยังมีความไม่ชัดเจนว่าหากนายจ้างและลูกจ้างตกลงรับทรัพย์สินอื่น เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลแทนเงินนั้นจะมีผลเช่นใด
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ (อย่างยิ่ง) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงาน อาจต้องพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลเกี่ยวกับ “ค่าจ้าง” หรือ “สินจ้าง” ของแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อทั้งแรงงานและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วน กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ (ABER Group)
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center: THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 64)
Tags: bitcoin, Cryptocurrency, คริปโทเคอร์เรนซี, บิตคอยน์