“Debt deleveraging” แบบใด เศรษฐกิจไทยจะได้ไปต่อ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า “ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย” เป็นหนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจที่พูดถึงกันมาก โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยสูงขึ้นเร็ว และติดอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 ชี้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องจากสิ้นปี 2566 ที่ 91.4% เหลือ 89.6% ต่ำสุดตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19

“จึงเริ่มมีคำถามว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ทยอยปรับลดลง หรือเรียกว่ากระบวนการ Debt deleveraging จะดำเนินต่อเนื่องได้หรือไม่ และสิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ลดความกังวลได้แล้วหรือยัง”

  • เศรษฐกิจไทยในวันที่ Debt deleveraging ท้าทายกว่าเดิม

หากย้อนพิจารณาพลวัตหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP พบว่า กระบวนการ Debt deleveraging เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่ปี 2559 แต่มาสะดุดลงในช่วงวิกฤต COVID-19 ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 95.5% ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 กระบวนการ Debt deleveraging เริ่มเกิดขึ้นใหม่หลังวิกฤตคลี่คลาย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องเหลือ 89.6% ในไตรมาส 2 ปี 2567 อย่างไรก็ดี สาเหตุที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงจากไตรมาสแรก กลับมาจากยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ลดลงเป็นหลัก ขณะที่ Nominal GDP ยังขยายตัวต่ำ โดยในไตรมาส 2 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน ขยายตัวเพียง 1.3%YOY ต่ำสุดตั้งแต่เริ่มเผยแพร่ข้อมูลในปี 2013

SCB EIC ชี้ว่า การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ อาจดูไม่น่ากังวล หากเกิดจากการทยอยชำระคืนหนี้เดิมที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของรายได้ อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้และรายได้น้อย SCB EIC พบว่าภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง ครัวเรือนไทยที่มีหนี้ กำลังเผชิญปัญหาการเงินที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ก็เข้มงวดขึ้น ซึ่งการที่เห็นยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนต่อ Nominal GDP ลดลง จึงอาจเป็นผลจากการอนุมัติสินเชื่อใหม่ลดลง มากกว่าจะเป็นผลจากการชำระคืนหนี้เก่าได้มาก

“ดังนั้น กระบวนการ Debt deleveraging ที่เห็นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อาจกำลังสะท้อนว่า ความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ของครัวเรือนแย่ลง แต่ไม่ได้สะท้อนว่า ความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือนปรับดีขึ้น”

  • Debt deleveraging ของไทยเหมือนคืบหน้า แต่ยังไม่ปลดล็อกครัวเรือนจากปัญหาหนี้

กระบวนการ Debt deleveraging ของไทยในปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่ามีความคืบหน้าในเชิง “ปริมาณ” กล่าวคือ ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ Nominal GDP ของไทยทยอยปรับลดลงได้แล้ว แต่หากพิจารณาถึงที่มาของการลดลงกลับพบว่า มาจากหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวลดลงมาก กระบวนการที่เห็นนี้จึงอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในท้ายที่สุด

การที่เห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องมา 2 ไตรมาสติดกัน อาจไม่ใช่เครื่องชี้ที่ดีพอจะสรุปได้ว่า ครัวเรือนไทยเริ่มแก้ปัญหาหนี้ได้แล้ว แต่กระบวนการลดหนี้ที่จะเป็นประโยชน์แท้จริงต่อภาคครัวเรือนโดยรวม จะต้องช่วยลดภาระหนี้ในระดับแต่ละครัวเรือนได้ ผ่าน 2 แนวทาง คือ

1. กระบวนการแก้ไขหนี้เดิมต้องครอบคลุมและตอบโจทย์ครัวเรือนที่มีปัญหาต่างกัน โดยการสนับสนุนให้ครัวเรือน จัดการหนี้เดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีกระบวนการแก้หนี้เดิมที่ครอบคลุมครัวเรือนที่กำลังมีปัญหาหนี้ให้ได้มากที่สุด ตอบโจทย์ปัญหาหนี้และความต้องการแก้หนี้ที่แตกต่างกันได้

2. นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องช่วยสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวในอนาคต การแก้หนี้เดิมของครัวเรือนให้ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคช่วยประคองเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวเพียงพอกับรายจ่าย

– ด้านนโยบายการคลังไทย เริ่มมีพื้นที่การคลังจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเจาะจงครัวเรือนเปราะบาง

– ด้านนโยบายการเงินต้องเอื้อให้เกิดการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน โดยสามารถผ่อนคลายเพิ่มได้ หากจำเป็นต้องลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำลงอีก จนกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนตามมา

SCB EIC ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงบริบทของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ มีมากกว่าความเสี่ยงจากการก่อหนี้ใหม่อยู่มาก การดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสม จึงควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนในอนาคต ผ่านการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ผ่านช่วงความเสี่ยงสูง

การประคับประคองเศรษฐกิจไทยนี้ จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการสนับสนุนกระบวนการ Debt deleveraging ของภาคครัวเรือน โดยเมื่อครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมั่นคงขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ และลดภาระหนี้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไป ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการลดหนี้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน และลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ในท้ายที่สุด กระบวนการ Debt deleveraging ที่จะตอบโจทย์ครัวเรือน และทำให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องมองให้กว้างไปกว่าการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หรือการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครัวเรือน แต่ต้องให้ความสำคัญถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ครอบคลุม และตอบสนองความต้องการของครัวเรือนได้

นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจมหภาค ก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัว เพราะการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนที่ยั่งยืน จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ที่อยู่คู่กับเศรษฐกิจไทยมานาน ประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงในท้ายที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 67)

Tags: , , , , ,