CtrlS ดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำจากอินเดีย ทุ่มลงทุน 1.5 หมื่นลบ.ใน EEC

บริษัท CtrlS Datacenter ซึ่งเป็นผู้ประกอบการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำจากอินเดีย เช่าพื้นที่ภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ระยะเวลา 50 ปี ลงทุนประกอบกิจการ Data Center และบริการ Cloud รองรับกลุ่มลูกค้าชั้นนำระดับโลก โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท สร้างรายได้ด้านค่าเช่ากว่า 1,300 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 อัตรา รวมทั้งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมด้าน Cloud ด้วย

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า บริษัท CtrlS ผู้ประกอบการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำระดับโลก (Hyperscale Tier4) จากประเทศอินเดีย และรายใหญ่ที่สุดในเอเชียได้เช่าพื้นที่ภายในเขต EECd ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจากอีอีซีจำนวน 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี ลงทุนโครงการ Hyperscale Datacenters ซึ่งเป็นการขยายฐานการลงทุนนอกประเทศครั้งแรก เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าด้านบริการข้อมูลชั้นนำระดับโลก มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 15,000 ล้านบาท

โดยบริษัทฯ จะมีการลงทุนเฟสแรก 4,500 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างประมาณเดือน ก.ค.67 และเริ่มปฏิบัติงานได้จริงในปีหน้า สร้างรายได้จากการเช่าพื้นที่ให้อีอีซีประมาณ 1,300 ล้านบาท สนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 1,000 อัตรา เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับ บริการระบบข้อมูล (Cloud Service) รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อความยั่งยืน ตามนโยบายหลักของรัฐบาล และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับการแข่งขันของประเทศ

โครงการ Hyperscale Datacenters จะใช้เทคโนโลยีจัดการพลังงาน และพลังงานสะอาดรองรับกำลังไฟฟ้าสูงสุด 150 เมกะวัตต์ รวมทั้งที่ตั้งจะอยู่ใกล้สถานีเคเบิ้ลใต้น้ำชลี 3 จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อที่มีความพร้อมทั้งโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน สามารถเชื่อมต่อระหว่างประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน ด้วยระบบเคเบิลใต้น้ำประสิทธิภาพสูง และเชื่อมต่อไปยังดาต้าเซ็นเตอร์ และนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2568 และจะเป็นโครงการสำคัญให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาค รองรับนักลงทุนในและต่างประเทศในธุรกิจดิจิทัลขั้นสูง เช่น 5G ระบบ AI, Cloud, IoT, Smart City และสามารถดึงดูดผู้ประกอบการด้านบริการข้อมูลระดับโลกให้เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซีต่อไป

ทั้งนี้ CtrIS ถือเป็นรายแรกที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EECd หลังจากปีที่ผ่านมาอีอีซีรับมอบพื้นที่มาดูแลเอง โดยพยายามแสวงหาบริษัทในเชิงยุทธศาสตร์ โดยคัดเลือกบริษัทที่สามารถช่วยดึงดูดเอกชนรายอื่นเข้ามาลงทุนต่อได้ และในพื้นที่ EECd จะเน้นส่งเสริมให้กับบริษัทที่ลงทุนด้านดิจิทัล และเทคโนโลยีต่างๆ

สำหรับภาพรวมการลงทุนในอีอีซีจะมีการเดินหน้าต่อไป หลังมีข่าวอาจมีเอกชนบางรายถอนตัว ซึ่งในปี 66 มีเอกชนขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 2.6 แสนล้านบาท ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็จำเป็นต้องมี เพราะเป็นระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่อีอีซีกับ กทม.ที่ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งอีอีซีพยายามขับเคลื่อนให้โครงการเดินหน้าไปต่อ แม้จะมีความล่าช้าในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม

ทั้งนี้ การลงทุนหลายโครงการในอีอีซีไม่จำเป็นต้องรอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็มีการลงทุนต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจของไทยอาจชะลอตัวไปตามภาวะการส่งออกและการท่องเที่ยว และยังไม่ถึงขั้นยื่นคำขาดกับภาคเอกชนที่ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะเรื่องนี้เป็นสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเอกชน ส่วนอีอีซีเหมือนเป็นคนช่วยบริหารสัญญา หากเรื่องใดยังติดขัด อีอีซีก็เข้าไปช่วยให้สัญญาเดินหน้าต่อไปได้ แต่ยังตอบแทนเอกชนไม่ได้ว่าจะเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่ แต่กำลังดูว่าเดินหน้าต่อไปอย่างไร

“จะมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง คือ เนื่องจากบีโอไอไม่ต่อขยายเวลาเรื่องสิทธิประโยชน์ แต่ผลของเรื่องนี้จะมีเพียงสิทธิประโยชน์ของบีโอไอหมดไปจากการที่เคยเสนอให้กับเอกชน แต่เอกชนสามารถขอใหม่ สามารถมาเริ่มใหม่ได้ หรือเอกชนอาจจะขอสิทธิประโยชน์ตามกฏหมายอีอีซีก็ได้เหมือนกัน”

นายจุฬา กล่าว

หากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินล่าช้าจะไม่ส่งผลกระทบกับโครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ เพราะเป็นการเปิดพื้นที่พัฒนาใหม่ คล้ายกับการทำโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ดเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา แต่อีอีซีสามารถส่งการพัฒนาไปยังแลนด์บริดจ์ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.พ. 67)

Tags: , , , ,