สรุปข่าวเด่นวงการ Cryptocurrency ทั่วโลกรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (14-18 มิ.ย.64) เริ่มต้นกับข่าวดังทั่วโลกกับเหตุการณ์ “Bubble Burst” หรือ “วิกฤติฟองสบู่แตก” ล่าสุดได้เกิดขึ้นบน Matic Chain บนโลก DeFi (Decentralize Finance) แม้ว่าครั้งนี้จะไม่ได้เกิดจากการ Hack หรือ Rug Pull แต่เกิดจากความผิดพลาดของ Algorithm ของการสร้าง (Mint) เหรียญขึ้นมา ส่งผลให้เหรียญ “TITAN” จากราคาสูงสุดที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐฯร่วงลงเหลือ 0.70 ดอลลาร์สหรัฐฯเพียงไม่กี่ชั่วโมงจนล่าสุดแทบจะไม่เหลือมูลค่าแล้ว
สำหรับเหรียญ “TITAN” สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเหรียญ Stable Coin บน Matic Chain ก็คือเหรียญ “IRON” โดยการสร้างเหรียญขึ้นมาจะประกอบด้วย USDC สัดส่วน 75% และเหรียญ TITAN 25% (โดยประมาณ) ถ้าต้องการเหรียญ “IRON” จำนวน 1 เหรียญจำเป็นต้องนำ USDC 0.75 เหรียญ และ TITAN 0.25 เหรียญเพื่อไปแลกมา กระบวนการดังกล่าวทำให้ราคาเหรียญ TITAN ทะยานมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะมีความต้องการมีการใช้งานอยู่ตลอดเวลา
เหตุการณ์ฟองสบู่แตกครั้งนี้เริ่มจากการที่ราคาเหรียญ TITAN ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้มีการขายเพื่อทำกำไรฉุดราคา TITAN ปรับตัวลดลงรุนแรง ทำให้ราคาเหรียญ “IRON” ปรับลดลงตามไปด้วย
ลักษณะสำคัญของ Stable Coin คือเหรียญจะถูกตรึงมูลค่าหรือตรึงราคาให้เท่ากันหรือใกล้เคียงกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯเสมอ และจากการทำงานของ Algorithm ชุดนี้ที่พยายามตรึงราคา “IRON” ให้กลับมาเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีเหรียญ TITAN เพิ่มขึ้นมาในระบบอีกจำนวน 9 ล้านโทเคน จากเดิมที่ควรมีเพียงแค่ 100 ล้านโทเคนเท่านั้น
และเมื่อปริมาณจำนวนเหรียญ TITAN เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่าเมื่อซัพพลายเพิ่มทำให้ TITAN ถูกลดคุณค่าลง ขณะที่นักลงทุนเกิดภาวะตื่ตนกแห่ขายเหรียญ TITAN เพราะมีเหรียญเพิ่มขึ้นมาในระบบ
สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ https://ironfinance.medium.com/iron-finance-post-mortem-17-june-2021-6a4e9ccf23f5
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการออกประกาศห้าม “โทเคน” ที่มี 4 ลักษณะต้องห้ามลิสต์บนกระดานเทรดไทย ประกอบด้วย Meme Token, Fan Token, NFT และ Native Token
1. Meme Token โทเคนที่ไม่มี Ecosystem มารองรับ ไม่สามารถนำไปทำอะไรได้ ราคาขึ้นอยู่กับกระแสบนโลกโซเชียล
2. Fan Token เหรียญที่สร้างขึ้นมาจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล
3. Non-Fungible Token (NFT) เหรียญที่แสดงถึงสิทธิ์ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยเฉพาะเจาะจง
4. Native Token เหรียญที่ออกโดยศูนย์ซื้อขาย รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน
และนอกจาก 4 โทเคนต้องห้ามนี้แล้ว สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ออกมาประกาศเกณฑ์ใหม่ว่า Exchange หรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องควบคุมให้ผู้ออกเหรียญปฏิบัติตามที่ระบุไว้ใน Whitepaper ไม่เช่นนั้นก็จะมีสิทธิโดนถอดเหรียญออกจากกระดานเทรดด้วย
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 11 มิ.ย. 2564 โดยไม่มีผลย้อนหลังคือเหรียญใดที่มี 4 ลักษณะต้องห้ามที่ลิสต์ไปแล้วถือว่าไม่ผิดตามเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศแต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 64)
Tags: Bubble Burst, CRYPTO SHOT, Cryptocurrency, DeFi, คริปโตเคอร์เรนซี, คริปโทเคอร์เรนซี, วิกฤติฟองสบู่แตก, สกุลเงินคริปโต, สกุลเงินดิจิทัล, เหรียญ IRON