“ประเทศไทย” นับว่าเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และยังมีการออกใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจ (Licenses) ออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการอนุมัติ License อีก 1 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั่นก็คือ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Asset Advisory Service
Crypto INSIGHT EP.12 จะพาทุกคนพูดคุยกับนายกสิณพจน์ เตชาหัวสิงห์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด (Cryptomind Advisory) บริษัทแรกในประเทศไทยที่ได้ใบอนุญาตนี้
*จุดเริ่มต้นของ Cryptomind Advisory
นายกสิณพจน์ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ก่อนจะมาเป็นบริษัทที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลในวันนี้ “Cryptomind Advisory” ได้มองเห็นถึงกระแสการมาถึงของ Cryptocurrency ในการสร้างโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรม แต่ในทางกลับกันก็เห็นว่ามีกลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อจาก SCAM มากมายเช่นกัน ทางบริษัทฯ จึงได้เปิด Facebook Page “Coinman” ร่วมกับ นายอัครเดช เดี่ยวพานิช ประธานกรรมการบริษัท Cryptomind Group และนายกานต์นิธิ ทองธนากุล ผู้รวมก่อตั้ง “Bitcoin Addict” เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่คนจำนวนมาก จนก่อให้เกิดเป็น community ที่ช่วยเหลือเหล่านักเทรดสายคริปโทฯ ในเมืองไทย
“Cryptomind Advisory ตั้งใจที่จะให้คำแนะนำ คำปรึกษาทางด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แก่นักลงทุนทุกประเภท ไม่จำกัดแค่บุคคล นิติบุคคล รวมถึงนักลงทุนสถาบัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่ปี 2560 และยังคงทำต่อมาเรื่อย ๆ”นายกสิณพจน์ กล่าว
ปัจจุบัน (30 พ.ย. 2564) ประเทศไทยออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล 6 ประเภท ประกอบด้วย
- Digital Asset Exchange License ศูนย์ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล
- Digital Asset Broker License นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
- Digital Asset Dealer License ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล
- ICO Portal License ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล
- Digital Asset Fund License ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
- Digital Asset Advisory License ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล
ใบอนุญาตที่ทาง “Cryptomind Advisory” เพิ่งคว้ามาได้เป็นที่แรกก็คือ Digital Asset Advisory License ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล โดยใบอนุญาตนี้ให้บริการครอบคลุมถึงการออกบทความ หรือบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล รวมไปถึงการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งหากเทียบกับตลาดเงิน ใบอนุญาตนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ IC License ใบอนุญาตสำหรับผู้แนะนำการลงทุน ซึ่งปัจจุบันเปิดให้ apply ได้ในรูปแบบของนิติบุคคลเท่านั้น
*จุดเริ่มต้นจากความช่วยเหลือรายย่อยสู่ไลเซ่นส์เปิดโอกาสขายบริการสถาบัน
นายกสิณพจน์ กล่าวว่า ความตั้งใจของ Cryptomind Advisory คือการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนสในสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับนักลงทุนทุกประเภท ทั้งรายย่อย รายใหญ่ และนักลงทุนสถาบีน ซึ่งสำหรับรายย่อยเป็นสิ่งทำมาตั้งแต่ต้น โดยให้คำแนะนำตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน การเปิด Wallet การเลือกตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณภาพ การเลือกลงทุนใน Cryptocurrency ต่าง ๆ ให้เหตุผลว่าเหรียญใดจะมีอนาคตที่ดี รวมถึงการเกาะติดเทรนด์ตลาดว่า sector ใดกำลังมาแรง เป็นต้น
ทั้งนี้ นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงบทวิเคราะห์ หรือบทความต่าง ๆ ที่บริษัทจะเปิดให้เข้ามาใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และหากมีคำถามก็สามารถเข้ามาที่ community เพื่อสอบถามและแลกเปลี่ยนความเห็นได้ตลอดเวลา เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งเป็น คอมมูที่อยู่มานาน หากมีใครที่มีจุดประสงค์จะเข้มาหลอกก็จะมีคนในชุมชนคอยคัดกรองให้ด้วย และยังสามารถสอบถามเข้ามาโดยตรงที่ข่องทางของบริษัท
และในช่วงหลังเริ่มเห็นความต้องการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนที่เป็นสถาบันมากขึ้น ซึ่งหลังจากได้ไลเซ่นส์จาก ก.ล.ต.มาแล้ว ทำให้เราสามารถนำเสนอบริการต่าง ๆ ให้กับนักลทุนกลุ่มนี่ได้มากขึ้น
*SCAMMER คนไทยเสี่ยงตกเป็นเหยื่อ !!
ด้วยลักษณะของ SCAM ที่ค่อนข้างหลากหลาย และมาในรูปแบบต่าง ๆ สามารถจำแนกได้ 3 ประเภทหลัก ๆ ที่คนไทยมักตกเป็นเหยื่อประจำ ไม่ว่าจะเป็น แชร์ลูกโซ่ ที่สวมร่างมาในรูปแบบของ Cryptocurrency ซึ่งกลุ่ม SCAM มักกล่าวอ้างเหรียญที่มีศักยภาพ (potential) มีอนาคตเติบโตสูง นักลงทุนจึงมักถูกชักชวนให้ไปลงทุนในเหรียญเหล่านี้ในรูปแบบที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากนั้น ยังมีการหลอกให้ไปลงทุนบนแพลตฟอร์มปลอม ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่มักมีความต้องการลงทุนในคริปโทฯ เป็นทุนเดิม และอาจได้ที่มาของข้อมูลหรือแพลตฟอร์มผิด เมื่อโอนเงินเข้าไปแล้วอาจไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ถูกบังคับต้องเติมเงินเข้าไปเรื่อยๆ เพื่อจะถอนเงินออกมา จนเกิดความเสียหาย
และยังมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อนักลงทุนมีปัญหาเข้ามาหาคำตอบใน community ก็จะมีกลุ่ม scammer ส่งข้อความส่วนตัว (Private Massage) เข้าไปแสดงความช่วยเหลือ แต่กลับหลอกให้ส่งรหัส (Seed Phrase) ต่าง ๆ และลักลอบโอนเงินไป ดังนั้นนักลงทุนควรระวังในการเลือกเข้าระบบ (log in) บนแพลตฟอร์มที่มีชื่อ URL ผิดปกติ หรืออาจสอบถามทาง community ก่อนเพื่อความแน่ใจ
“สิ่งที่นักลงทุนพบเจอนี้สามารถมาตรวจสอบกับ Advisory ได้ ผู้ที่คลุกคลีกับวงการมานานมองแป๊บเดียวก็รู้แล้วว่าเป็น SCAM หรือเปล่า อย่างถ้าแพลตฟอร์มดู URL ค่อนข้างซับซ้อน ไม่ได้เป็นคำที่ตลาดส่วนใหญ่ใช้กัน ก็สงสัยไว้ก่อนว่าเป็น SCAM”นายกสิณพจน์ กล่าว
*ตลาดคริปโทฯ ยังไปต่อได้อีกไกล
นายกสิณพจน์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากตลาดคริปโทฯ เป็นตลาดที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง หากคาดการณ์ในระยะยาวยังมองว่าสามารถเติบโตได้ แต่ในระยะสั้นอาจจะมี correction ได้บ้าง ในระยะยาวค่อนข้าง Bulish ไม่ว่าจะมองด้วยปัจจัยทางเทคนิค หรือ ปัจจัยพื้นฐาน
ก่อนหน้านี้ มีสถาบันหลายแห่งต่างออกมาคาดการณ์ราคา “Bitcoin” ว่าจะแตะ 100,000 ดอลลาร์ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นไปได้เมื่อใด แม้ว่าระยะสั้นถึงระยะกลางอาจจะมีการแกว่งตัวค่อนข้างมากก็ตาม แต่ไม่เพียงแค่นักลงทุนรายย่อย ปัจจุบันเริ่มมีนักลงทุนสถาบัน (รายใหญ่) เริ่มให้ความสนใจในตลาด Cryptocurrency มากขึ้น ส่งผลบวกในด้านความต้องการ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ราคาจะขึ้นสูง เพราะซัพพลายจำกัด ทำให้เห็นภาพ Bitcoin ที่ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนสถาบันต่าง ๆ
*BTC Future ETF กองทุนใหม่ BTC สะท้อนการยอมรับนักลงทุนสถาบัน
BTC Future ETF คือการลงทุนในกองทุนที่ถือครองสัญญาซื้อขายฟิวเจอร์ส (ไม่ใช่กองทุนที่ถือครอง BTC) กองทุนนี้จะมีความแตกต่างกับ BTC SPOT ETF ซึ่งมีการถือครอง Bitcoin จริง โดยปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. ยังอนุมัติเพียงแค่ BTC Future ETF เท่านั้น ซึ่งการลงทุนในลักษณะดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยสะท้อนการยอมรับในนบรรดานักลงทุนสถาบัน
นายกสิณพจน์ กล่าวว่า กองทุน BTC Future ETF ย่อมส่งผลต่อราคาบิทคอยน์ในตลาดอย่างแน่นอน เพราะถึงแม้ไม่ได้มีการถือครอง Bitcoin แต่กองทุนเหล่านี้ก็ยังคงต้องนำเงินไปซื้อสัญญาล่วงหน้า สุดท่ายนแล้วราคาฟิวเจอร์สและราคาจริงก็จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน
สิ่งที่ต่างกันอย่างชัดเจน นั่นคือ “ความเป็นเจ้าของ” หากเปรียบเทียบการลงทุนใน BTC SPOT ETF กับการลงทุนซื้อบิทคอยน์มาเก็บเอง จะพบว่าการลงทุนใน BTC SPOT ETF มีความสะดวกกว่ามาก แต่เนื่องจากกฎหมายบางประเทศไม่อนุญาตให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่การลงทุนด้วยการซื้อ Bitcoin จาก Exchange และนำมาเก็บไว้ใน wallet ซึ่งเราเป็นผู้ถือ private Key เองและเป็นผู้ถือ Bitcoin เองอย่างแท้จริง
นายกสิณพจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นักลงทุนใดที่ต้องการลงทุนในระยะยาวควรเรียนรู้วิธีการใช้งาน “Hardware Wallet” เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเก็บรักษาสินทรัพย์ของตัวเอง โดยควรเลือกซื้อจากแหล่ง Official ที่เชื่อถือได้เท่านั้น การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนควรศึกษาให้ดี ไม่ควรกู้ยืมเงินมาลงทุน หรือลงทุนเกินกำลัง
โดย ดวงกมล คล่องบุญจิต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 64)
Tags: Cryptocurrency, กสิณพจน์ เตชาหัวสิงห์, คริปโทเคอร์เรนซี, สกุลเงินดิจิทัล, สินทรัพย์ดิจิทัล