CREDIT ปิดเทรดวันแรกที่ 27.50 บาท ลดลง 1.50 บาท (-5.17%) ต่ำกว่าราคา IPO ที่ 29.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 867.18 ล้านบาท จากราคาเปิด 27.50 บาท ราคาสูงสุด 27.75 บาท ราคาต่ำสุด 25.25 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุว่า ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) มุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) แก่กลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงิน
สินเชื่อของธนาคารสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 1. สินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี 2. สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย 3. สินเชื่อบ้าน 4. สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล 5. สินเชื่อรายย่อยอื่นๆ โดยธนาคารฯ ได้รับความเห็นชอบให้ยกระดับจากธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยเป็นธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 66 ซึ่ง 9M23 มีสาขาทั้งหมด 527 แห่งทั่วประเทศ
ธนาคารดำเนินธุรกิจด้วยความเชื่อที่ว่ายังมีผู้ประกอบการเป้าหมายอีกมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลางได้ จึงต้องหันไปพึ่งพาช่องทางการกู้ยืมเงินนอกระบบ โดยสินเชื่อที่เป็นสัดส่วนหลักของพอร์ต คือ สินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี (MSME) และจากข้อจำกัดด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการและลูกค้ารายย่อย ทำให้ CREDIT เป็น 1 ในผู้เล่นสำคัญที่มีการเติบโตสูงในธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย โดยธนาคารมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้กลไกการค้ำประกันของบสย. มาลดความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อ
มาตรการแก้หนี้นอกระบบเป็นผลดีต่อ CREDIT เพราะจะช่วยดึงลูกหนี้ที่มีข้อจำกัดและความเสี่ยงสูงเข้ามาในระบบได้มากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นผลดีต่อ CREDIT เนื่องจากลูกค้ารายย่อยเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคาร ขณะที่แนวโน้ม NPL เพิ่มขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้
รายได้เติบโตตามการขยายตัวของสินเชื่อ โดยคาดว่ารายได้จากดอกเบี้ยสุทธิเติบโตตามการขยายตัวในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคาร โดยเฉพาะสินเชื่อ Nano และ Micro finance ซึ่งคาดว่าจะสามารถเติบโตต่อเนื่องได้อย่างน้อยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจหลังโควิด-19 ทำให้ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในระยะสั้น และระยะยาวจะโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่มองว่า NIM ผ่านระดับสูงสุดไปแล้ว ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/66 เป็นต้นมา แต่ NIM ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ราวร้อยละ 8
*กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น YoY จากการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และขยายตัวต่อเนื่อง จากรายได้ที่ขยายตัว NIM ที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งต้นทุนดำเนินงานและต้นทุนเครดิตลดลง ซึ่งธนาคารมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราส่วนต้นทุนการดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ในส่วนของพนักงาน ประกอบกับมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
การเข้ามาระดมทุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของ CREDIT ในครั้งนี้มีความเหมาะสม และมีปัจจัยติดตามต่อ คือ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อในอนาคต
ความเสี่ยงที่สำคัญ: 1. ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ 2. คุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ 3. การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และการกำกับดูแล 4. ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย
จากการประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วยวิธี P/BV ที่ 2.0x-2.3x เท่า พบว่ามูลค่าใกล้เคียงกับราคา IPO
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.พ. 67)
Tags: CREDIT, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นไทย, ธนาคารไทยเครดิต, หุ้นไทย