CPF ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสุขภาพเป็น 50%,สินค้าคาร์บอนต่ำ 40%ในปี 73

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืนใหม่ “CPF 2030 Sustainability in Action” เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอีก 9 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2573) ซึ่งบริษัทฯ ยังยึด 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดิน น้ำ ป่าคงอยู่ ในด้านของอาหารมั่นคง กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น จากปัจจุบัน 35% จะเพิ่มเป็น 50% การเพิ่มสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำจาก 20% เป็น 40%

ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมอาหาร เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ อาทิ การพัฒนาโปรตีนทางเลือก Plant- Based Protein ภายใต้แบรนด์ Meat Zero ที่ผลิตจากพืช 100% การนำโปรไบโอติกมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้สัตว์แข็งแรงตามธรรมชาติ ไม่ป่วยง่าย ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง ผลิตภัณฑ์ “เบญจา ชิกเก้น” (Benja Chicken) นวัตกรรมเนื้อไก่สดพรีเมียม ไก่ที่เลี้ยงด้วยข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์หมูชีวา เนื้อหมูที่มีโอเมก้า 3 เป็นต้น จากความมุ่งมั่นการนำความรู้ เทคโนโลยี ระบบดิจิทัล และความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้ในการออกผลิตภัณฑ์อาหาร และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งองค์กร ทำให้ในปีนี้ บริษัทได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก มุ่งมั่นพัฒนาและผลิตอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งมอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปลอดภัย โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในประเด็นการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being) และการผลิตและการบริโภคอย่างรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production) ร่วมส่งเสริมคนไทยบริโภคอย่างรู้คุณค่าของอาหาร ขับเคลื่อนนโยบายลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตลอดจนร่วมมือกับประชาคมโลกในการสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียมกันและพอเพียงให้กับทุกคน ทั้งในสถานการณ์ปกติและภาวะวิกฤติ

“การแพร่ระบาดของโควิด- 19 เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ซีพีเอฟ ไม่เคยหยุดนิ่งเพื่อพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมในระบบการผลิตอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อตอบสนองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่ผู้คน รวมทั้งทำการตลาดอย่างรับผิดชอบ การเข้าถึงผู้บริโภคจำนวน 35 ล้านรายต่อวัน ด้วยอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” นายวุฒิชัย กล่าว

นายวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ซีพีเอฟ ตระหนักดีว่าธุรกิจอาหารเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ เราจึงรณรงค์และส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กร นำแนวคิดการสร้างคุณค่าปราศจากขยะ (Waste to value)ไปสู่การปฏิบัติจริง โดยเริ่มที่ตัวของพนักงานเอง อาทิ ซีพีเอฟเปิดตัว กิจกรรม “กินเกลี้ยง เลี้ยงโลก” ปลูกฝังพนักงานรู้คุณค่าอาหาร บริโภคอาหารให้หมดจาน การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเพื่อลดการสูญเสีย ตลอดจนถึงช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อลดขยะอาหาร ให้ความรู้ผู้บริโภคกินอย่างรู้คุณค่าไม่เหลือทิ้ง เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหารให้กับทุกคน

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการสูญเสียอาหาร อาหารส่วนเกินและขยะอาหาร ตลอดกระบวนการผลิต โดยริเริ่มโครงการ “Circular Meal…มื้อนี้เปลี่ยนโลก” ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายมูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และบริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด (GEPP) เพื่อนำอาหารส่วนเกินไปปรุงเป็นเมนูพร้อมทาน อร่อยและปลอดภัย กว่า 12,000 มื้อ ให้แก่ผู้ยากไร้ และกลุ่มเปราะบางมากกว่า 10,000 คน และยังส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้ถึงการเก็บขยะพลาสติกส่งกลับคืนเพื่อนำไปย่อยสลายอย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยลดอาหารส่วนเกินได้มากกว่า 2,800 กิโลกรัม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 6,014 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 64)

Tags: , , , ,