ประเทศต่าง ๆ ได้บรรลุข้อตกลงเมื่อวานนี้ (24 พ.ย.) ในการกำหนดเป้าหมายทางการเงินปีละ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการประชุม COP29 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนในการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีประเทศร่ำรวยเป็นผู้นำในการจ่ายเงิน
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เป้าหมายใหม่นี้มีไว้เพื่อแทนที่พันธสัญญาเดิมของประเทศพัฒนาแล้วที่จะให้เงินช่วยเหลือ 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีแก่ประเทศยากจนภายในปี 2563 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวบรรลุล่าช้าไป 2 ปี คือในปี 2565 และจะหมดอายุในปี 2568
ข้อตกลงนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศกำลังพัฒนาว่าไม่เพียงพอ แต่ไซมอน สเตลล์ หัวหน้าฝ่ายสภาพอากาศขององค์การสหประชาชาติ (UN) ยกย่องข้อตกลงนี้เป็นกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับมนุษยชาติ
สเตลล์กล่าวว่า “แม้จะยากลำบาก แต่เราได้บรรลุข้อตกลงนี้แล้ว … ข้อตกลงนี้จะช่วยให้ขบวนการพลังงานสะอาดเติบโตและปกป้องชีวิตผู้คนนับพันล้าน ช่วยให้ทุกประเทศสามารถแบ่งปันผลประโยชน์จากการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งมีงานทำมากขึ้น เติบโตแข็งแกร่งขึ้น และพลังงานที่สะอาดและถูกกว่าสำหรับทุกคน” และได้เสริมว่า “เฉกเช่นเดียวกับกรมธรรม์ประกันภัยอื่น ๆ ข้อตกลงนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายจ่ายส่วนแบ่งของตนและตรงเวลา”
แต่เดิมนั้น การประชุม COP29 มีกำหนดการสิ้นสุดลงในวันที่ 22 พ.ย. แต่ต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากประเทศต่าง ๆ เกือบ 200 ประเทศยังหาทางตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับแผนระดมทุนด้านสภาพอากาศสำหรับ 10 ปีข้างหน้า โดยในช่วงหนึ่ง ผู้แทนจากประเทศยากจนและประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กได้เดินออกจากที่ประชุมด้วยความไม่พอใจ เพราะรู้สึกขาดการมีส่วนร่วม และกังวลว่าประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังพยายามลดทอนบางแง่มุมของข้อตกลงนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 67)
Tags: COP29, ภาวะโลกร้อน