CONSENSUS: TU ถอนทุน Red Lobster พ้นภาระขาดทุนดันกำไรฟื้น ทูน่ากระป่อง-Pet Food โตต่อเนื่อง

บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ปี 67 กำไรฟื้นตัวจากการถอนทุนใน Red Lobster หยุดรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนตั้งแต่ไตรมาส 1/67 เป็นต้นไป ประกอบกับ ธุรกิจปลาทูน่ากระป๋องฟื้นกลับมาเป็นปกติตามดีมานด์ประเทศคู่ค้าทยอยดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ต้นทุนราคาทูน่าก็ปรับลดลง ด้านธุรกืจอาหารสัตว์เลี้ยงยังเห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามเทรนด์โลก

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากค่าระวางเรือสูงมองเป็นแค่ผลกระทบระยะสั้น เนื่องจากปัญหาสงครามทะเลแดงน่าจะกินเวลาสั้นกว่าช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ค่าระวางเรือสูงยาวนานถึง 23 เดือน

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี พัฒนสิน มองบวก TU ประกาศถอนการลงทุนใน Red Lobster ร้านอาหารในสหรัฐฯ ทำให้ไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนจากธุรกิจดังกล่าวอีก โดยปกติจะมีผลขาดทุนปีละ 600-700 ล้านบาท ก็จะกลับมาส่งผลบวกต่อกำไร TU

แนวโน้มปี 67 งบ TU คาดกำไรปกติกลับมาเติบโต 17% จากธุรกิจทั้งทูน่ากระป๋อง และ Petfood ตามการฟื้นตัวกลับมาในระดับปกติ ขณะที่คาดว่าราคาทูน่าจะลดลงในปีนี้ โดยไตรมาส 1/67 เก็งกำไรปกติจะดีขึ้น y-y แม้จะทรงตัว q-q

ขณะที่ราคาหุ้น แม้ขึ้นมาแล้วเล็กน้อย แต่ยังซื้อขายบน P/E ราว 11-12 เท่า ถือว่าไม่แพง ให้ราคาเป้าหมาย 17.50 บาท

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ มองบวกต่อการถอนการลงทุนใน Red Lobster (RL) เช่นกัน แม้ไตรมาส 4/66 ต้องรับรู้ด้อยค่าสูงถึง 1.85 หมื่นล้านบาท แต่เป็นรายการ One time และ Non Cash แม้ส่วนทุนจะลดลงจากการตั้งด้อยค่าครั้งนี้ และทำให้ Net D/E ratio ขยับขึ้นเป็น 0.84 เท่า จาก 0.65 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 3/66 แต่ยังต่ำกว่า Debt covenant ที่กำหนดห้ามเกิน 2 เท่าอยู่มาก ขณะที่อัตราส่วนทางการเงินอื่นๆ อาจปรับลงเป็นการชั่วคราว และจะกลับมาดีขึ้นในปี 67

แต่ที่สำคัญบริษัทจะหยุดรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก RL ตั้งแต่ไตรมาส 1/67 เป็นต้นไป ส่งผลบวกต่อกำไรปี 67 ของ TU คาดเพิ่มขึ้นราว 450-500 ล้านบาท

ด้านปัญหาสงครามตะวันออกกลางที่กระทบต่อเส้นทางขนส่ง Red Sea ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.67 เริ่มกระทบต่อรายได้ส่งออกไปยุโรปเล็กน้อยในไตรมาส 4/66 และอาจต่อเนื่องมาในไตรมาส 1/67 จากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้นราว 10-15 วัน ประกอบกับ ค่าระวางเรือตู้ไทย-ยุโรปปรับขึ้นแรงกว่า 200% m-m สูงสุดในรอบ 16 เดือน ส่วนค่าระวางไทย-สหรัฐ และไทย-จีน ปรับขึ้นเช่นกัน +40-50% และ +78% ตามลำดับ

ทั้งนี้ มองว่าอาจกระทบต่อ TU ช่วงสั้น เพราะมีบางส่วนขายแบบ CIF (Cost, Insurance & Freight) ตอนโควิดปี 65 ที่ค่าระวางเรือทำนิวไฮและสูงกว่าปัจจุบันเกือบ 3 เท่า ค่า Freight Cost สูงขึ้นเป็น 32.4% จากปกติอยู่ที่ 21-22% ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่ปัญหาสงครามอาจกินเวลาสั้นกว่าตอนเกิดโควิดที่ค่าระวางเรือสูงนานถึง 23 เดือน

ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 67-68 ขึ้น 5.5% และ 2.1% เป็น 5.5 พันล้านบาท (+11.2% y-y) และ 6 พันล้านบาท เติบโต +11.2% y-y และ +8.8% y-y ตามลำดับ แม้ปรับลดรายได้ลง และปรับเพิ่ม Freight cost ขึ้น ทำให้ SG&A to sales เพิ่มขึ้น 20bps เพื่อสะท้อนมุมมองค่าระวางเรือที่สูงขึ้นในครึ่งปีแรกนี้ และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 67 แต่ผลลบของค่าระวางเรือสูงขึ้นจะถูกหักล้างทั้งหมดด้วยส่วนแบ่งขาดทุน RL ที่หายไป

ด้วยผลของการปรับเพิ่มกำไร จึงปรับเพิ่มราคาเป้าหมายสิ้นปี 67 ขึ้นเป็น 19 บาท จากเดิม 18 บาท (อิง SoTP) คิดเป็น 2024PE ที่ 17 เท่า แม้อัตราส่วนทางการเงินจะสะดุดลงในไตรมาส 4/66 แต่เป็นสถานการณ์ชั่วคราว และคาดแนวโน้มผลการดำเนินงานและอัตราส่วนทางการเงินจะกลับสู่ระดับปกติอีกครั้งในปี 67 และหากสามารถขอผ่อนผันผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารได้สำเร็จ คาดอัตราจ่ายปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.3 บาท คิดเป็น Dividend yield ครึ่งปีที่ 2% ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”

ส่วน บล.พาย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มในปี 67 คาดว่าผลประกอบการ TU จะเห็นการฟื้นตัว โดยเฉพาะจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่แนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนจาก Red Lobster ที่เคยเข้ามาปีละกว่า 500-1,000 ล้านบาท (แต่จะรับรู้ได้ไม่เต็มเพราะต้องกลับไปจ่ายภาษีหลังจากมีรายได้ภาษีเข้ามาจากการที่ธุรกิจ Red Lobster ขาดทุนหนักเหมือนที่เกิดในปี 65-66)

เบื้องต้นประเมินกำไรสุทธิที่ 6,021 ล้านบาท (+27% YoY) โดยอาจจะมีการปรับประมาณการหลังผลประกอบการรายงานออกมา รวมแล้วยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” เช่นเดิม โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 19.7 บาท (16XPER’24E)

นอกจากนี้ TU ประกาศซื้อหุ้นคืน 200 ล้านหุ้น วงเงิน 3,600 ล้านบาท เริ่ม 20 ก.พ. ถึง 30 มิ.ย.67

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 67)

Tags: , , , ,