โบรกเกอร์แห่ปรับราคาเป้าหมายหุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) สูงขึ้น หลังจากผู้บริหาร TRUE ได้ออกมาให้ข้อมูลอัพเดทการควบรวมกิจารกับ DTAC ว่า TRUE จะมีผลประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน (Synergy) ทั้งหมดช่วง 10 ปีมีมูลค่าถึง 2.5 แสนล้านบาท สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ 60,000-100,000 ล้านบาท และ TRUE จะพลิกเป็นกำไรในปี 68 โดยมีกลยุทธ์ในการรวมเครือข่ายเป็น Singer Grid ที่มีเป้าหมายเริ่มใช้ในปี 68
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์จากงาน Capital Market Day ว่า ในที่สุด TRUE ก็เปิดเผยรายละเอียดการทำงานร่วมกันจากการควบรวมกิจการกับ DTAC จากข้อมูลของ TRUE พบว่าผลประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน (Synergy) ทั้งหมดมีมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท (cUSD7 พันล้าน) เป็นที่น่าประทับใจ ซึ่งมากกว่าประมาณการเบื้องต้นของเราที่ 1.02 แสนล้านบาท (cUSD3 พันล้าน) เมื่อได้รับการสนับสนุนจากมูลค่าการทำงานร่วมกันนี้ ฝ่ายบริหารคาดการณ์ว่าบริษัทจะทำกำไรได้ตั้งแต่ปี 68 Single Grid เพื่อสนับสนุนให้เกิดการ Synergy
กลยุทธ์ Single Grid การรวมเครือข่าย และการกำจัดทาวเวอร์ที่ซ้ำซ้อน จะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนมูลค่าการทำงานร่วมกัน TRUE ระบุว่าคิดเป็น 35% ของมูลค่าการทำงานร่วมกันทั้งหมด ซึ่ง TRUE ตั้งเป้าบูรณาการ TRUE (ก่อนควบรวมกิจการ) และ DTAC bandwidths บนคลื่นความถี่ 2.3GHz และ 2.6GHz (re-farm) โดยจะเริ่มในไตรมาส 4/66 และต้นปี 67 ตามลำดับ
ในการรื้อทาวเวอร์ ฝ่ายบริหารตั้งใจที่จะรื้อถอนเสารวมระหว่าง TRUE (ก่อนควบรวมกิจการ) กับ DTAC 30% โดยคาดว่าจะขยายความครอบคลุม 5G เป็น 97% ทั่วประเทศ (เทียบกับ TRUE ครอบคลุม 86% และ DTAC 47% ก่อนการควบรวมกิจการ)
แต่ บล.ทิสโก้ ชี้จุดที่ไม่แน่นอน ทั้งเรื่องแผนการลงทุนระยะยาว, แผนการ Synergy และการเพิ่มขึ้นของรายได้ โดยเน้นประเด็นสามประการที่อาจกลายเป็นคำถามเมื่อเวลาผ่านไป ประการแรก การคาดการณ์ค่าใช้จ่ายลงทุนประจำปีที่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทในปี 69-70 ดูเหมือนจะท้าทายสำหรับเรา เนื่องจากปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดของ TRUE สูงกว่า ADVANC เพียงเล็กน้อย ในขณะที่ CAPEX ของ ADVANC ยังคงอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
ประการที่สอง ไทม์ไลน์สำหรับการรวมระบบ Single Grid ที่ TRUE คาดการณ์ไว้ว่าจะใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ภายในปี 68 ดูเหมือนจะเป็นไปในแง่ดีมากเกินไปในมุมมองของเรา เนื่องจากคลื่นความถี่ 2.3GHz จะหมดอายุในเดือน ส.ค.68
และ สุดท้ายประมาณ 1.5-2.0 หมื่นล้านบาท (6-8% ของ มูลค่า Synergy ทั้งหมด) คาดว่าจะเป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น เช่น การนำเสนอบริการระดับพรีเมียมใหม่ๆ แม้ว่าองค์ประกอบนี้จะไม่ได้มีส่วนสำคัญของมูลค่า Synergy แต่เราเชื่อว่าองค์ประกอบดังกล่าวมีความไม่แน่นอนในระดับหนึ่ง
หลังจากที่กลับมาทบทวนความคาดหวังด้านมูลค่า Synergy แล้ว ขณะนี้เราคาดว่าจะมีมูลค่าการรวมกิจการที่สูงขึ้นเป็น 1.76 แสนล้านบาท (cUSD5.2 พันล้าน) จากการควบรวมกิจการ ส่งผลให้เราได้ปรับกำไรปี 66-68 ของ TRUE ขึ้น +14%, -171% และ +5% ตามลำดับ โดยเพิ่มมูลค่าที่เหมาะสมโดยอิง DCF เป็น 9.50 บาท (จากเดิม 8 บาท) ทั้งนี้ เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ TRUE ซึ่งปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สงครามราคาที่เกิดขึ้นใหม่ และการยุติการแข่งขันที่มีลักษณะคล้ายการผูกขาด
ด้าน บล.กรุงศรี ระบุว่า TRUE ได้ให้ข้อมูลถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัท และมูลค่าของ synergy หลังการควบรวมกับ DTAC ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดเฝ้ารออยู่ ถึงแม้บริษัทจะเปิดเผยว่ามูลค่า synergy จะสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการของเราที่ 6 หมื่นล้านบาทถึง 4 เท่า แต่บริษัทยังจะมีผลขาดทุนสุทธิต่อไปอีกในปีนี้ และปีหน้าจากการบันทึกต้นทุนของการรวมกิจการ ซึ่งน่าจะมากกว่าต้นทุนที่ประหยัดได้จากมูลค่าของ synergy โดยบริษัทคาดว่าจะพลิกเป็นกำไรสุทธิได้ในปี 68
ประเด็นสำคัญที่ได้จากงานนี้ ได้แก่ (i) บริษัทประเมินมูลค่า synergy ไว้ที่ 2.5 แสนล้านบาท (หักต้นทุนการรวมธุรกิจแล้ว) ซึ่งจะมาจากกระแสเงินสดที่เกิดจากมูลค่าของ synergy ในช่วงปี 66-73 บวกด้วย terminal value (ii) 40% ของมูลค่า synergy จะมาจากส่วนของการดำเนินงาน อย่างเช่น การประหยัดต้นทุน และการ upsell/cross sell ส่วนอีก 60% จะมาจากงบลงทุน (capex) ที่ประหยัดไปได้ (iii) การจะประหยัดต้นทุนโครงข่าย และ capex ต้องมีการนำโครงข่ายใหม่ “single grid” ซึ่งต้นทุนในการรวมธุรกิจและการดำเนินการด้านโครงข่ายจะถูกบันทึกในช่วงปี 66-67
บริษัทคาดว่าต้นทุนในส่วนนี้จะมากกว่าอานิสงส์จากต้นทุนที่ประหยัดได้ ซึ่งจะทำให้ TRUE ยังคงมีผลขาดทุนสุทธิในปี 66-67 ก่อนจะพลิกเป็นกำไรในปี 68 จากเป้าของบริษัท ต้นทุนการรวมธุรกิจในปีนี้จะอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 4 พันล้านบาทในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าที่เราประเมินเอาไว้ ดังนั้น เราจึงปรับลดปรับลดประมาณการปี 66 ลงเป็นขาดทุนสุทธิ 6.9 พันล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะขาดทุนสุทธิ 5 พันล้านบาท และปรับลดประมาณการปี 67 เป็นขาดทุนสุทธิ 5 พันล้านบาท จากที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1.9 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เรายังคงประมาณการปี 68 เอาไว้เท่าเดิม เพราะคาดว่าจะเห็นผลจากต้นทุนที่ประหยัดได้จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านโครงข่ายที่ลดลง และ SG&A ที่ลดลง นอกจากนี้ เรายังปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 69 ขึ้นอีก 10% เป็น 4.4 พันล้านบาท จาก 4.0 พันล้านบาท จากค่าเสื่อมราคาที่ลลดงตาม capex ที่ลดลง
เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” และปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 10 บาท จากเดิม 9 บาท เพราะเรารวมมูลค่า synergy ไว้ในราคาเป้าหมายเพียงครึ่งเดียว แต่ยังไม่ได้รวมอีกครึ่งที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (opex) และ SG&A ที่ลดลง ทั้งนี้ การบีบค่าใช้จ่ายดังกล่าวมากเกินไปและเร็วเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน และความสามารถในการแข่งขันของบริษัท
ด้านนายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า จากการรับฟังผู้บริหาร TRUE ระบุว่ามูลค่าจากประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน (Synergy) 2.5 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้ 1 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่กำไรของ TRUE จะมาช้า โดยผู้บริหารกล่าวว่าจะมีกำไรในปี 68 ฉะนั้นในปี 67 TRUE ก็ยังขาดทุนอยู่
ขณะที่กสิกรไทยคาดว่าในปี 67 ผลประกอบการ TRUE จะมีกำไร 2.5 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 67 ผลขาดทุนต่อไตรมาสน่าจะลดลงเรื่อยๆ เชื่อว่าหาก TRUE พลิกมีกำไรราคาหุ้นจะเด้งกลับรุนแรง
คาดการณ์ในปี 66-68 TRUE จะมีรายได้ 230,000 ล้านบาท , 260,000 ล้านบาท และ 270,000 ล้านบาทตามลำดับ ส่วน EBITDA ปี 66-68 คาดมี 87,000 ล้านบาท, 95,000 ล้านบาท และ 98,000 ล้านบาทตามลำดับ และกำไรสุทธิ ในปี 66-68 ขาดทุน 5,000 ล้านบาท , กำไรสุทธิ 2,500 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 5,000 ล่านบาท
นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า ราคาหุ้น TRUE ปรับตัวลงวานนี้ปิดที่ 7.30 บาท เป็นการขายออกหลังก่อนหน้านี้เก็งกำไรขึ้นมา (Sell on Fact) และผลประกอบการปีหน้ายังขาดทุน อีกทั่งสภาพตลาดหุ้นโดยรวมก็ไม่ดี แต่แนะให้กลับไป “ซื้อ” ทยอยเก็บได้ เพราะ TRUE มีข่าวดีเรื่อง Synergy Value ที่จะเข้ามามาก
ทั้งนี้ กสิกรไทย คงราคาเป้าหมายที่ 9.00 บาท แนะนำ”ซื้อ” หรือ “ทยอยสะสม”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 66)
Tags: Consensus, DTAC, TRUE, ทรู คอร์ปอเรชั่น