CONSENSUS: ปีมังกร ทองทุบสถิติ!!

ปี 66 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ราคาทองคำไทยปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากหลายปัจจัยทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่า ราคาทองคำโลก รวมทั้งประเด็นความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศทะลุ 34,000 บาทต่อบาททองคำ

แนวโน้มราคาทองคำในปี 67 จะมีทิศทางเป็นอย่างไร “อินโฟเควสท์” รวบรวมมุมมองของนักวิเคราะห์ต่อทิศทางราคาทองคำ ประเด็นที่ต้องติดตามทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยคาดว่าราคาทองจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 2,100-2,200 เหรียญต่อออนซ์ หากเฟดลดดอกเบี้ย ขณะที่ราคาทองคำในประเทศคาดว่าจะแตะระดับสูงสุด 36,400 บาท

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ราคาทองคำปัจจุบันค่อนข้างผันผวน โดยต้องติดตามว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ หากปรับลดดอกเบี้ยตามคาดอาจทำให้ราคาทองคำในปี 67 แตะ 2,200 เหรียญต่อออนซ์ รวมทั้งประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้ง สงครามยูเครน-รัสเซีย ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

ทั้งนี้ ราคาทองคำในช่วงไตรมาส 1/67 อาจจะวิ่งในกรอบ 2,025-2,075 เหรียญต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำไทยต้องรอติดตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากราคาทองคำไทยขึ้นอยู่กับค่าเงินบาทซึ่งมีความผันผวนปรับขึ้นลงแรง

นายวรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำในปี 67 คาดแกว่งตัวในทิศทางไซด์เวย์อัพ เป็นการแกว่งในทิศทางที่ค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นมีโอกาสพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คาดว่าแนวต้านหรือจุดที่ราคาทองคำมีโอกาสแกว่งขึ้นไปแตะ 2,144 เหรียญต่อออนซ์ ซึ่งเคยเป็นระดับสูงสุดในเดือน ธ.ค.66

ภาพรวมของราคาทองคำมีหลายปัจจัยที่ยังคงสนับสนุนให้ราคาทองปรับตัวขึ้นได้ต่อ ประกอบด้วย

1. การยุติวงจรขาขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ราคาทองปรับเพิ่มขึ้น

2. แนวโน้มภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐหรือเศรษฐกิจโลก มีสัญญาณของการชะลอตัวลง จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นการซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยการคาดการณ์ของวาณิชธนกิจขนาดใหญ่หลายแห่งมีการปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ลง โดยมองว่าภาพดังกล่าวยังเป็นปัจจัยส่งผลบวกต่อทิศทางราคาทองคำเพิ่มเติม

3.ปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ยังคงส่งผลกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่ปีนี้จะมีการเลือกตั้งในหลายๆประเทศ ซึ่งการเลือกตั้งจะทำให้งบประมาณทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเกิดภาวะชะงักงันหรือผ่านงบทางสภาได้ค่อนข้างลำบาก ดังนั้นเรามองว่าความเสี่ยงที่จะมีการเลือกตั้งแล้วมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจะทำให้ทิศทางหรือแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงไปได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างประเทศให้มีสัญญาณของความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งการเลือกตั้งในไต้หวันที่อาจทำให้ความตึงเครียดกับจีนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเลือกตั้งในสหรัฐ อาจส่งผลกระทบกับประเด็นสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งสหรัฐได้ให้การสนับสนุนอิสราเอลและยูเครนอยู่ ทั้งนี้ความเสี่ยงดังกล่าวยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ยังกลับมากระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับแนวโน้มราคาทองคำในประเทศไทยมีปัจจัยสนับสนุนคล้าย Gold Spot แต่ทองคำไทยมีปัจจัยค่าเงินบาทเข้ามาคาดการณ์ด้วย ดังนั้น ภาพของเงินบาทที่มีโอกาสอ่อนค่าหรือทรงตัว มาจากการคาดการภาพรวมเศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำกว่าภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงหรือความผันผวนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของภาครัฐที่อาจต้องใช้เงินจำนวนมากหรือต้องกู้ยืมเงิน จึงมีโอกาสทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณ ปัจจัยดังกล่าวอาจหนุนให้เงินบาทอ่อนค่าลงและส่งผลบวกต่อราคาทองคำในประเทศ

หากปัจจัยดังกล่าวมีความชัดเจนหรือมีสัญญาณที่นักลงทุนเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นหรือรุนแรงมากขึ้น อาจเห็นราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปได้ถึง 2,200 เหรียญต่อออนซ์ได้ ให้แนวรับให้ไว้ที่ 1,902-1,847 เหรียญต่อออนซ์ หากไม่หลุดมองว่าราคายังมีโอกาสค่อย ๆ แกว่งขึ้นไปได้ และเป็นระดับเข้าซื้อ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศอาจจะขึ้นได้หาก Gold Spot ขึ้นไปถึงระดับดังกล่าว และค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 34.85 บาท/ดอลลาร์ คาดว่าจะเห็นราคาทองคำในประเทศที่ 36,400 บาทต่อทองคำ

ขณะที่ นายจรณเวท ศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายแนะนำการลงทุน บริษัท คลาสสิก ออสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด มองแนวโน้มราคาทองคำในปี 67 ว่ามีอัพไซด์ค่อนข้างน้อยหลังจากราคาขึ้นไปพีคแล้วในช่วงไตรมาส 3/66 อยู่ระดับ 2,144 เหรียญต่อออนซ์ ในปีนี้คาดว่าราคาทองคำจะมีลักษณะของการวิ่งในกรอบ เอียงไปทางลงข้างล่างมากกว่า หรือมีความเป็นไปได้ที่จะหลุด 2,000 เหรียญ/ออนซ์ และในกรณีที่หลุด 2,000 เหรียญ/ออนซ์ อาจเล็งเป้าหมายที่ระดับ 1,950 เหรียญต่อออนซ์

ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด และฝั่งยุโรปได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปัจจุบันมีมุมมองว่าเฟดน่าจะลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าฝั่งยุโรป เนื่องจากนโยบายการเงินค่อนข้างตอบสนองต่อเงินเฟ้อมากกว่า อีกทั้งเงินเฟ้อของสหรัฐลดลงค่อนข้างเร็วกว่ายุโรป สะท้อนค่าเงินยูโรอาจแข็งค่ากว่าดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคาทองคำ

อย่างไรก็ตาม ในปี 66 กองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ค่อยมีแรงซื้อ โดยตลอดทั้งปีจะมีแรงขายมากกว่า รวมทั้งหากในปีนี้ธนาคารกลางระดับโลกเริ่มลดดอกเบี้ยเม็ดเงินจะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อเปรียบเที่ยบกับทองที่ไม่มีปันผลปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับราคาทองคำมากกว่า

นายจรณเวท มอง แนวโน้มราคาทองคำในปี 67 น่าจะแตะระดับสูงสุดที่ 2,100 เหรียญต่อออนซ์ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ราคาทองคำในประเทศมองว่าผ่านจุดพีคไปแล้ว หากสภาผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ จะเกิดการทับซ้อนกันของงบประมาณปี 67 และปี 68 ในช่วงไตรมาส 3-4/67 จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามามาก ทำให้เงินบาทแข็งค่าส่งผลลบต่อราคาทองคำในประเทศ

ราคาทองคำในประเทศปี 67 คาดว่าแตะระดับสูงสุดไม่เกิน 34,000 บาท มองลงมาทางด้านล่างบริเวณ 33,000 บาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 67)

Tags: , , , ,