CMO เรียกทนายหารือตั้งป้อมสู้คดีฮั้วประมูลงาน Universal Exhibition Milano หลังถูกโดดเดี่ยว

บมจ.ซีเอ็มโอ (CMO) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 11 ม.ค.67 ได้เชิญทนายความผู้เชี่ยวชาญในคดีอาญาของศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อว่าความแก้ต่างในความผิดที่ถูกฟ้องในคดีทุจริต ซึ่งมีประโยชน์กับบริษัทฯ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะชนะคดีนี้และไม่เกิดความเสียหายใด ๆ กับบริษัท

ในระหว่างเหตุการณ์นับตั้งแต่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา บริษัทมั่นใจว่าไม่ได้กระทำความผิดด พร้อมทั้งเชื่อมั่นในระบบกระบวนการยุติธรรม บริษัทได้ชี้แจงโดยละเอียดตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้การปฏิเสธในชั้นตำรวจ ให้ความร่วมมือชั้นอัยการจนดำเนินการมาถึงชั้นศาล บริษัทได้จัดเตรียมข้อเท็จจริงของคดีและข้อต่อสู้ต่าง ๆ ไว้แล้ว

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.66 บริษัทได้ถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ปรากฏเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท213/2566 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 โจทก์กับ CMO ในฐานะจำเลย

ที่มาคือ เมื่อประมาณปี 54 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเข้าร่วมงาน Universal Exhibition Milano 2015 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-31 ต.ค.58 โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสกหรณ์ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ วงเงินงบประมาณ 736,890,000 บาท โดยในวันที่ 8 พ.ย.56 คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกรายชื่อบริษัทและนิติบุคคล 10 ราย เพื่อเชิญชวนให้เข้าเสนองาน และในวันที่ 21 พ.ย.56 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหา (บัตรสนเท่ห์) เกี่ยวกับงานดังกล่าว

ในวันที่ 29 พ.ย.56 มีบริษัทแจ้งความประสงค์ในการยื่นเสนองาน 2 ราย คือ บริษัทฯ และ กิจการร่วมค้า A ในวันที่ 16 ธ.ค.56 กำหนดให้มีการยื่นซองข้อเสนอทางเทคนิคและราคาค่าจ้างงานพร้อมวางหลักประกันซอง ในวันที่ 19-20 ธ.ค.56 เป็นวันนำเสนองานของนิติบุคคลทั้งสอง และปรากฏว่าคณะกรรมการจัดจ้างฯได้พิจารณาให้กิจการร่วมค้า A ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะ

ในวันที่ 17 มี.ค.66 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่บริษัทฯ โดยกล่าวหาว่า บริษัทฯ โดยกรรมการผู้มีอำนาจในขณะนั้นร่วมกับกิจการร่วมค้า A เสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่กิจการร่วมค้า A เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ต่อมาเมื่อปี 59 นาย B ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกิจการร่วมค้า A ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ และเมื่อวันที่ 3 พ.ย.60 ได้เข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทฯ

ต่อมาในวันที่ 18 เม.ย.66 บริษัทได้จัดทำชี้แจงยื่นให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในทุก ๆ ประเด็น ซึ่งประเด็นหลักคือ บริษัทฯ ได้ท การเสนอราคาอย่างตรงไปตรงมา ไม่เคยมีการเจรจาตกลงใด ๆ ต่อกัน การนำเสนองานโดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ การจัดทำรูปแบบในรายละเอียดการเสนองานจัดทำด้วยความสวยงามเหมาะสมกับงานระดับนานาชาติ

ในวันที่ 15 พ.ย.66 ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้เจ้าพนักงานกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง กล่าวหานิติบุคคล 4 ราย และบุคคล 2 ราย ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนมายังพนักงานอัยการและในวันที่ 13 ธ.ค.66 พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องบริษัทฯ โดยในวันที่ 15 ธ.ค.66 พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนิติบุคคล 2 ราย ส่วนนิติบุคคลอีก 1 รายและบุคคลธรรมดา 2 รายนั้น พนักงานสอบสวนไม่สามารถนำตัวมาส่งฟ้องได้ทันภายในกำหนดอายุความคือวันที่ 16 ธ.ค.66

ทั้งนี้ พฤติการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกับข้าราชการ เอกชน และบุคคลธรรมดาหลายราย แต่สุดท้ายแล้วมีเพียงบริษัทฯ รายเดียวที่ถูกดำเนินคดีต่อศาล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 67)

Tags: , , ,