นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การพัฒนาวัคซีน Chulacov19 ชนิด mRNA จะแล้วเสร็จใช้งานได้อย่างเร็วช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 65 โดยขณะนี้อยู่ขั้นตอนทดลองในคนระยะที่ 1 ว่ามีความปลอดภัยแค่ไหน ขนาดโดสที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่ โดยฉีดให้กับอาสาสมัคร 3 กลุ่มๆ ละ 12 คน
โดยกลุ่มแรกฉีดให้ขนาด 10 ไมโครกรัม กลุ่มที่สองขนาด 25 ไมโครกรัม และกลุ่มที่สามขนาด 50 ไมโครกรัม ซึ่งหลังจากฉีดแล้วยังไม่พบว่ามีอาสาสมัครคนใดเกิดผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์ แม้แต่อาการบวมจากรอยฉีด ดังนั้น คาดว่าประมาณสิ้นเดือน ก.ค.64 จะรู้ขนาดโดสที่เหมาะสมและปลอดภัยกับคนไทย แต่ขณะนี้ก็สามารถเทียบเคียงได้ว่าขนาดที่เหมาะสมควรใกล้เคียงกับวัคซีนที่มีใช้งานอยู่จริงในประเทศขณะนี้
หลังจากนั้นจะขยับไปทดลองในคนระยะที่ 2 ช่วงกลางเดือน ส.ค.-พ.ย.64 ซึ่งจะใช้อาสาสมัครอีก 150 คน เพื่อยืนยันว่าได้ผล และจะทดลองในคนระยะที่ 3 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ การเจ็บป่วย และการเสียชีวิต ซึ่งต้องใช้อาสาสมัครอีกราว 1.5-3 หมื่นคน และต้องทดลองในช่วงที่มีการระบาดหนัก
อย่างไรก็ตาม องค์กรที่พัฒนาวัคซีนระยะที่ 3 ทั่วโลก อยู่ระหว่างลุ้นว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) สามารถระดมนักวิทยาศาสตร์มาพิจารณาว่าวัคซีนที่นำมาใช้งานควรจะสร้างภูมิคุ้มกันที่ระดับใด หากสามารถยืนยันได้ว่าวัคซีน Chulacov19 ที่พัฒนาอย่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เกินเกณฑ์ก็ไม่จำเป็นต้องทดลองในคนระยะที่ 3
“ถ้าเราไม่ต้องทดลองในระยะที่ 3 ขณะนี้โรงงานกำลังซ้อมมือผลิตในช่วงปลายเดือนหน้า ถ้าฝีมือการผลิตดี สามารถผลิตได้ตามเป้า คุณภาพได้ตามมาตรฐานสากล เร็วสุดประมาณปลายไตรมาสแรกของปี 65 หรือก่อนสงกรานต์ เราน่าจะมีวัคซีนรุ่นแรกๆ แล้ว”
นพ.เกียรติ กล่าว
ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า วัคซีนที่ผลิตได้นั้นคาดว่าจะนำไปใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็มมาแล้ว และจะเป็นการเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีน ซึ่งในอนาคตคาดว่าเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจะสามารถทำได้ง่าย ทำให้สามารถตอบโต้โรคได้เร็วขึ้น อีกทั้งต้นทุนต่ำลงเพราะไม่จำเป็นต้องใช้โรงงานที่มีขนาดใหญ่โต
“เป้าสูงสูดของเราคือเป็นวัคซีนบู๊ทเตอร์เข็มสาม ไม่ว่าคนที่ฉีดยี่ห้อไหนมา ซึ่งตอนนี้กำลังมีการศึกษาเรื่องการสลับฉีดวัคซีน ซึ่งจะเป็นที่พึ่งของคนที่ฉีดวัคซีนมาแล้วต้องการฉีดเข็มสาม”
นพ.เกียรติ กล่าว
นอกจากนี้ยังเตรียมพัฒนาการผลิตวัคซีนรุ่นที่สองให้สามารถป้องกันเชื้อสายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้ ซึ่งขณะนี้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มทดลองในหนูสัปดาห์หน้า และทำการวิจัยเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้นแค่ครึ่งโดส
ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า อยากให้ทุกองค์กรร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนของประเทศไทย ไม่ใช่ทำเพื่อองค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยมีภาครัฐคอยให้การสนับสนุน เช่น การจัดสรรงบที่จะซื้อวัคซีนที่ผลิตได้ในประเทศไปใช้งาน ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศอังกฤษและเยอรมนีนำมาใช้ช่วยให้การพัฒนาวัคซีนเกิดขึ้นเร็วมาก
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังสามารถติดเชื้อโควิด-19 ได้ เพราะวัคซีนเน้นการป้องกันไม่ให้ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ดังนั้นจึงยังจำเป็นต้องดูแลตัวเองตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพราะจะเห็นว่าในบางประเทศที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังมีอัตราการติดเชื้อสูงเพราะไม่มีวินัย
“ผมจะตกใจมาก ถ้าอีก 7 วัน บุคลากรทางการแพทย์ที่เชียงรายป่วยหนัก นอนโรงพยาบาลหมด นั่นคือล้มเหลว”
นพ.เกียรติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 64)
Tags: ChulaCov19, COVID-19, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ฉีดวัคซีน, ภูมิคุ้มกัน, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, อาสาสมัคร, เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์อินเดีย, โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้