CHG มั่นใจปี 67 รายได้พุ่งต่อเนื่องเดินแผนขยายเตียง ลุยรักษามะเร็งครบวงจร

พ.ญ.ชุติมา ปิ่นเจริญ รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) คาดว่าในปี 67 รายได้จะเติบโตต่อเนื่องเป็นตัวเลข 2 หลัก (2 digit) จากปี 66 ที่มั่นใจว่ารายได้โตได้ตามเป้าที่ 8,000 ล้านบาทหรือเติบโต 20% จากปี 65 ที่มีรายได้ 6,600 ล้านบาท (ไม่นับรวมรายได้จ่กโควิด) โดยการเติบโตมาจากเปิดโรงพยาบาลจุฬารัตน์แม่สอด อินเตอร์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตากที่มีขนาด 100 เตียง เปิดเฟสแรก จำนวน 59 เตียง เมื่อ มิ.ย. 66 ที่จะเข้ามาเต็มปี 67 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไป ที่มีศักยภาพในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบครบวงจรแห่งแรกในพื้นที่แม่สอด

นอกจากนี้ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ มีจำนวนเตียงเพิ่มอีก 59 เตียงเมื่อไตรมาส 3/66 จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 59 เตียง รวมถึงการเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์ Chularat Medical Center อยู่ใกล้กับ รพ.จุฬารัตน์ 3 ซึ่งจะดำเนินการใน 4 ด้าน

– ศูนย์รังสีวิทยา เรื่องฉายแสง รักษามะเร็ง Radiotherapy และ MRI & Intervention

– ศูนย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ Nuclear Medicine ซึ่งก็เป็นการรักษามะเร็ง แต่มีความซับซ้อนกว่า ซึ่งเป็นการรักษาทางเลือก มุ่งหวังคนไข้ต่างชาติ คนไข้เงินสด และกลุ่มคนไข้ประกันชีวิต

– ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke Center ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตสูงมาก

– ศูนย์บำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง HBOT Center (Hyperbaric Oxygen Therapy) คือ การักษาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือด ด้วยการเพิ่มออกซิเจนในเลือด ให้เข้มข้นขึ้น จุดมุ่งหมายหลัก เพื่อกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ การเปิดจำนวนเตียงคนไข้มากขึ้น และเปิดโรงพยาบาลใหม่ช่วยเร่งรายได้เติบโตได้ดีมากขึ้น

พ.ญ.ชุติมา ยังกล่าวว่า CHG จะเพิ่มขยายจำนวนเตียงในโรงพยาบาลรวมแพทย์ ฉะเชิงเทรา อีก 71 เตียงจากที่มีอยู่ 59 เตียง รวมแล้วเป็น 130 เตียงซึ่งอยู่ระหว่างขออนุญาตเพิ่มเตียง คาดว่าสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้าน่าจะเริ่มให้บริการได้แล้ว ทำให้คาดว่าในปี 67 จะมีจำนวนเตียงรวมเป็น 982 เตียงจากปี 66 ที่มีทั้งหมด 911 เตียง

ทั้งนี้ ตามแผนงาน ภายในปี 2570 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า CHG จะเพิ่มจำนวนเตียงรวมทั้งหมด 1,300 เตียง (ยังไม่นับรวมหากมีการเทคโอเวอร์) โดยจะเป็นการลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ ระยอง ขนาด 100 เตียง และ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ แพรกษา จ.สมุทรปราการ ขนาด 100 เตียงเช่นกัน คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบ และจัดงบลงทุน

นอกจากนี้ CHG ยังได้ลงทุนธุรกิจใหม่ (New Business) 3 แห่งได้แก่

1.ลงทุนสตาร์อัพ ด้าน Health Technology

– บริษัท เอรินแคร์ จำกัด (ARINCARE) สตาร์ทอัพด้านสาธารณสุข Helathcare สัญชาติไทย (CHG ถือ 25%) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มร้านขายยาออนไลน์ ที่มีเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศมากกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งเป็นการต่อยอดการให้บริการในเรื่อง เทเลเมดิซีน รวมถึงช่วยลดต้นทุนในเรื่องการซื้อยา และสามารถขายยาผ่านอรินแคร์ เพิ่มการดูแลแบบองค์รวมและเสริมความแข็งแกร่งด้าน Logistic และ Supply chain

– บริษัท เมด คิวรี่ จำกัด (MEDcury) (CHG ถือหุ้น 25%) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านการออกแบบระบบ จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการดูแลผู้ป่วยและการจัดการข้อมูลด้านสุขภาพ ครอบคลุมครบทั้งระบบสารสนเทศภายในโรงพยาบาล โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาเสริมในการให้บริการลูกค้า (Hospital Information System-HIS)และโปรแกรมต่อขยายอื่นๆ ด้านสุขภาพ เพื่อลดการสิ้นเปลือง ช่วยให้บริการของลูค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.ศูนย์เซ็นจูรี่แคร์ เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยพักฟื้นหลังการผ่าตัด ตั้งอยู่บริเวณลาดกระบัง ซึ่งอยู่ใกล้จุฬารัตน์ 3 และ 9 มี 5 ตึก จำนวนเตียง 128 เตียง โดย CHG ถือหุ้นในสัดส่วน 100%

3.แผนเปิด Wellness Center ตรงข้าม รพ.จุฬารัตน์ 9 ซึ่งเป็นโครงการในอนาคต คาดว่าจะเปิดได้ดำเนินการในช่วงต้นปี 68 โดยได้รับอนุมัติจากบอร์ดบริษัทแล้ว อยู่ระหว่างรอก่อสร้าง

“ธุรกิจใหม่นี้ จะเห็นการเติบโตเริ่มจากเซ็นจูรี่แคร์ เริ่มรับรู้รายได้เข้ามาไตรมาส 3/66 “

พ.ญ.ชุติมา ยังกล่าวว่า ในอนาคต CHG จะเพิ่มศักยภาพดูแลผู้ป่วยมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ด้านอุบัติเหตุ และยังเพิ่มการรักษาโรคมะเร็งที่ครบวงจรในปีหน้า ซึ่งจะรวมถึงการรองรับสิทธิขั้นพื้นฐาน ตามโครงการ Cancer anywhere ของรัฐด้วย ซึ่ง CHG จะเข้าดูแลได้ทุกกลุ่ม แต่ถ้าเกินสิทธิพื้นฐาน CHG ก็ดูแลได้ด้วย

“ภาพจุฬารัตน์ 3-4 ปีข้างหน้า จุฬารัตน์มีตัวตนทั้งขยายและเพิ่มศักยภาพดูแล ของเดิม เรามีเรื่องหัวใจ เรื่องอุบัติเหตุ ปีหน้าจะเน้นเรื่องมะเร็ง คิดว่าเรามีความเชี่ยวชาญมาก และจะดูเทคโนโลยีใหม่ในการรักษามะเร็ง”

นอกจากนี้ CHG เป็นโรงพยาลรองรับคนไข้ประกันสังคม โรงพยาบาลของ CHG อยู่โซนภาคตะวันออกที่มีการขยายอุตสาหกรรมมีแผนรองรับด้วย ทุกวันนี้มีจำนวนคนไข้ประกันสังคม 530,000 คน จากโควต้าที่รับได้ 560,000 คน

และจากแผนงานเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลใหม่ 2 แห่ง คือ รพ.จุฬารัตน์ แพรกษา และ รพ.จุฬารัตน์ ระยอง ที่จะสร้างเป็นโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงคาดจะสามารถรับเพิ่มจำนวนคนไข้ประกันสังคมได้อีกโรงพยาบาลละ 100,000 คน รวมเป็น 200,000 คน

“นักลงทุน หรือผู้จัดการกองทุน เคยกังวลการสร้างรพ.ใหม่ (green field) 2 แห่งเมื่อปี 62 แต่ตอนนั้นรายได้ 5,100 ล้านบาท แต่ตอนนี้รายได้เราได้ 8 พันล้านบาท ซึ่งปีนั้นโดนฉุดไม่มาก แต่ก็มีกำไร มาร์จิ้นก็ยังได้ 2 digit … อยากจะบอกว่าถ้าไม่มีวันเริ่มต้นก็ไม่มีวันที่โต อย่าง 2 สาขาที่เปิดมาไม่ได้ทำให้ผิดหวังเลย เป็นตัวที่ Contribute ทั้ง revenue (รายได้) และผลกำไรให้จุฬารัตน์”พ.ญ.ชุติมา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,