สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เผยกรณีเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบิน TG 683 เส้นทาง โตเกียว (ฮาเนดะ) – กรุงเทพ ฯ เฉี่ยวชนกับเครื่องบินของสายการบินอีวีเอแอร์ (EVAAir) เมื่อเวลา 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น) วานนี้ (10 มิถุนายน 2566) ตามที่มีรายงานข่าวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ไปแล้วนั้น CAAT ขอรายงานสรุปเหตุการณ์และความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ดังนี้
1. ลักษณะของเหตุการณ์: อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่เครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 683 กำลังเคลื่อนตัวไปยังทางขับหมายเลขแอล 15 (Taxiway L15) ตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจร ทางอากาศ หอบังคับการบินสนามบินฮาเนดะ ในระหว่างที่อากาศยานกำลังเคลื่อนตัวอยู่นั้น ปรากฏว่าชายปีก (Winglet) ด้านขวาของเครื่องบินได้เฉี่ยวกับส่วนท้ายเครื่องบินของสายการบิน EVA Air ที่จอดอยู่ที่จุดรอ (Holding Point) ของทางขับหมายเลขแอล 14 (Taxiway L14) ทำให้ช่วงชายปีกด้านบนได้รับความเสียหายโดยไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนี้ กรมการบินพาณิชย์แห่งญี่ปุ่น (JCAB) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (National Police Agent) ของญี่ปุ่น ได้เข้าตรวจสอบและดำเนินการพิทักษ์เครื่องบินทั้งสองลำไว้เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุต่อไป
2. การดำเนินการเกี่ยวกับผู้โดยสาร: CAAT ได้ประสานกับสายการบินไทยในทันที เพื่อตรวจสอบแผนและมาตรการเกี่ยวกับผู้โดยสาร ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและการดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นได้รับการยืนยันว่าการบินไทยได้เตรียมการทุกด้านไว้พร้อมแล้ว ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำนวน 250 คน การบินไทยได้จัดหาบัตรโดยสารให้สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้เมื่อวานนี้ (10 มิถุนายน 2566) จำนวน 100 คน โดยเป็นเที่ยวบินของสายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์ส (ANA) และสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ (JAL) สำหรับผู้โดยสารที่เหลือ บริษัท การบินไทย จำกัด ได้จัดหาที่พักและเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินของสายการบินไทยในวันนี้ (11 มิถุนายน 2566) โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงแบบ/รุ่นของอากาศยานเพื่อให้สามารถนำผู้โดยสารตกค้างกลับถึงประเทศไทยได้หมดในวันพรุ่งนี้
3. การประสานงานกับกรมการบินพาณิชย์แห่งญี่ปุ่น (JCAB): CAAT อยู่ระหว่างการประสานงานกับ JCAB อย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการสอบสวนเหตุการณ์ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้รับผิดชอบหลักและกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งด้านการประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสายการบินไทย และผู้โดยสารของเที่ยวบินดังกล่าว
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย จะได้ติดตามสถานการณ์และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและรายงานให้สาธารณะทราบต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มิ.ย. 66)