โครงการบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service – C3S) ที่ได้รับทุนจากสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยในวันนี้ (10 ม.ค.) ว่า ปี 2567 ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นปีที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดในโลกนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในปีพ.ศ. 2393 ซึ่งตอกย้ำถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการระดับโลกอย่างเด็ดขาดเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ข้อมูลที่เผยแพร่ระบุว่า ปี 2567 ถือเป็นปีปฏิทินแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นเกณฑ์สำคัญที่กำหนดโดยข้อตกลงปารีส
โคเปอร์นิคัสเปิดเผยว่า ในปี 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 15.1 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าปี 2566 ถึง 0.12 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นปีที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งก่อน และเท่ากับสูงกว่าระดับประมาณการณ์ก่อนยุคอุตสาหกรรมอยู่ 1.6 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ย 2 ปีของปี 2566 และ 2567 ยังเกินเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมอีกด้วย
ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) มุ่งหวังที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้
จูเลียน นิโคลัส นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศของ C3S ระบุในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซินหัวว่า อุณหภูมิที่สูงผิดปกตินั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เป็นหลัก และเขาได้กล่าวเสริมว่า ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปรากฏการณ์ ENSO (El Nino Southern Oscillation) ซึ่งเป็นรูปแบบสภาพอากาศตามธรรมชาติที่ทำให้พื้นผิวมหาสมุทรในแปซิฟิกอุ่นขึ้น ก็มีส่วนทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 68)
Tags: C3S, EU, สภาพภูมิอากาศ, สหภาพยุโรป, อากาศร้อน