BLS มองหุ้นไทยยังไปต่อ ขานรับปัจจัยในปท.หนุน จับตาเลือกตั้งสหรัฐ-ศก.โลก

นายพิริยพล คงวาณิช ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์พื้นฐาน สายงานวิจัย บล.บัวหลวง มองภาพตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยหนุนจากการที่เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งเซอร์ไพรส์ตลาด และเป็น sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยได้ต่อ และคาดว่าอาจจะมีการลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่หนุนต่อการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยได้ต่อ และยังคงมีแรงซื้อของกองทุนวายุภักษ์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ตามมองว่าการปรับตัวขึ้นมาของดัชนีตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก ทำให้เริ่มมีอัพไซด์ที่จำกัด โดยที่บล.บัวหลวง คาดว่าดัชนี SET สิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,500 จุด ซึ่งการที่ดัชนีจะปรับตัวขึ้นไปที่ยืนเหนือ 1,500 จุด ยังมีความท้าทาย และอาจจะมีแรงขายทำกำไรออกมา ประกอบกับยังต้องรอปัจจัยหนุนใหม่ ๆ ที่เข้ามาทั้งปัจจัยบวกในและต่างประเทศ

โดยที่ปัจจัยที่ยังต้องติดตามนั้นยังต้องรอเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้า แต่มองว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการที่จะมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามามากขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือว่าไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง และการสนับสนุนของภาครัฐที่มีการเดินหน้าดึงดูดการลงทุนให้เข้ามา และอีกหนึ่งปัจจัยที่มาจากสหรัฐที่ยังต้องติดตาม คือ ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งจะหากเศรษฐกิจสหรัฐมีการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ชัดเจน จะเป็นปัจจัยที่กดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลกได้ ทำให้ยังต้องมีความระมัดระวังในการลงทุนในปี 68

ขณะที่ปัจจัยในประเทศมองว่ายังคงมีปัจจัยสนัยสนุนต่อจากการท่องเที่ยวที่ยังคึกคัก ทำให้เป็นปัจจัยที่หนุนต่อเศรษฐกิจไทยต่อ แต่ยังต้องระมัดระวังในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ หากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกิดการชะลอตัว อย่างเศรษฐกิจสหรัฐ หรือเศรษฐกิจจีน อาจมีผลต่อการส่งออกของไทย และมีผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 68 ได้ ทำให้การที่ตลาดหุ้นไทยในปี 68 จะปรับตัวขึ้นไปต่อเหนือ 1,500 จุด ยังมีความท้าทาย โดยในเบื้องต้นคาดว่าดัชนี SET ในปี 68 จะอยู่ที่ 1,485 จุด

สำหรับกลุ่มหุ้นที่ทางบล.บัวหลวง มองว่าเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนได้ ซึ่งหลักๆจะเป็นกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลง ได้แก่ กลุ่มไฟแนนซ์ (MTC) กลุ่มโรงไฟฟ้า (GULF, BGRIM) ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการที่ต้นทุนทางการเงินปรับลดลง หลังจากอัตราดอกเบี้ยลดลง กลุ่มค้าปลีกที่ขายสินค้าจำเป็น (CPALL, CPF) ซึ่งหลังการลดดอกเบี้ย ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยครัวเรือนลดลง และอาจจะมีการบริโภคสินค้าจำเป็นเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และดาต้าเซ็นเตอร์ ได้แก่ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (WHA, AMATA) และหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่อง เช่น AOT และ CPN ส่วนหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นั้น แม้ว่าดอกเบี้ยจะปรับตัวลดลงก็ตาม แต่ประโยชน์ที่ได้รับจะอยู่ที่ต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการ แต่ยังต้องรอดู sentiment ของการซื้อที่อยู่อาศัยว่าจะเป็นอย่างไร เพราะกำลังซื้อยังไม่กลับมาดี และธนาคารยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ส่วนกลุ่มแบงก์ อาจจะต้องรอติดตามว่าเกี่ยวกับสินเชื่อที่ขยายตัวได้มากหรือน้อยแค่ไหน เพราะการลดดอกเบี้ยจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของแบงก์ แต่ยังต้องดูว่าจะชดเชยด้วยการขยายสินเชื่อได้อย่างไร เพราะปัจจุบันยังคงเห็นแบงก์ระมัดระวังในการปล่ยสินเชื่อ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ต.ค. 67)

Tags: , , , , , ,