BKGI เล็งขาย IPO เข้า SET ใน มี.ค.ชูความโดดเด่นหุ้นไบโอเทคตัวแรกของไทย

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ของ บมจ.แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น (BKGI) ประเมินว่า BKGI จะสามารถเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 160,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 26.67% และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในเดือนมีนาคม 2567 หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติแบบคำขอแล้ว และภายในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้าจะเผยแพร่บทวิเคราะห์ BKGI จากบริษัทหลักทรัพย์ 6 แห่ง (รวม บล.ฟินันเซีย ไซรัส)

BKGI จะเป็นหุ้นธุรกิจเทคโนโลยีไบโอเทครายแรกของไทยที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (SET) และเป็นบริษัทที่มีความน่าสนใจ เพราะนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกลุ่ม BGI ผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการถอดรหัสพันธุกรรมของโลกมาใช้ในการให้บริการ ทำให้ผลการวิเคราะห์ต่างๆ ของบริษัทมีความแม่นยำสูง

นอกจากนี้ ธุรกิจของบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมสุขภาพ ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์ ถือเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เพราะสังคมไทยอยู่ในยุคสังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ และที่สำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นทำให้คนทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะทำให้ชื่อเสียงขององค์กร และแบรนด์ของ BKGI เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งยังช่วยเสริมฐานทุนให้มีความแข็งแกร่ง รองรับแผนการขยายธุรกิจในอนาคต

“ธุรกิจ BKGI เป็นธุรกิจ Bio Technology บริษัทแรกของไทย ถือว่าธุรกิจเป็น New S-Curve โดย BKGI เป็นบริษัทในกลุ่ม BGI ซึ่งเราไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่าย ไม่ได้เป็น Agent แต่ BKGI เป็นบริษัทลูก BGI”นายสมภพ กล่าว

นายปรีชา เลาหะพงศ์ชนะ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการ BKGI กล่าวว่า BKGI เกิดจากความร่วมมือระหว่างกลุ่ม BGI ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการถอดรหัสพันธุกรรมของโลกที่อยู่อันดับ TOP 3 ของโลก มาร่วมก่อตั้งบริษัทในไทย โดยนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยมาถ่ายทอดให้กับ BKGI เพราะว่าจีนเห็นไทยเป็น Medical Hub ที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคโดยใช้การถอดรหัสพันธุกรรม หรือ Future Hospital และหากเกิดขึ้นเชื่อว่า Eco System ก็จะเข้ามาในไทย จะยิ่งส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี

สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดแข็งของบริษัท เพราะ กลุ่ม BGI เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ทำให้ราคาไม่แพง และอนาคตจะเป็นราคาที่ทุกคนตรวจได้ การนำ BKGI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการสื่อสารให้รู้จักวงกว้างว่าธุรกิจนี้ดีอย่างไร นำไปใช้ดูแลสุขภาพได้ดีมากขึ้น

ด้านนางสาวเสาวลักษณ์ ด่านสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BKGI กล่าวว่า การเข้าระดมทุนครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รองรับแผนการขยายธุรกิจการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics) หรือการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เข้าใจกลไกของชีวิตเชิงลึก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคทางพันธุกรรม รวมทั้งการวางแผนดูแลสุขภาพชีวิต เพื่อป้องกันและรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในครั้งนี้ นอกเหนือจากนำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รองรับแผนขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานเติบโตอย่างก้าวกระโดดแล้ว เป้าหมายหลักของ BKGI คือการยกระดับมาตรฐานองค์กร สามารถตรวจสอบได้ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงลูกค้าที่มาใช้บริการของเรา ซึ่งมีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล”

BKGI มี 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่

1. ธุรกิจการให้บริการ แบ่งเป็น

– การตรวจคัดกรองของความผิดปกติทางพันธุกรรมด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ (Reproductive Health Testing Service) ได้แก่ การคัดกรองของความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดา ภายใต้แบรนด์ “NIFTY”, การตรวจคัดกรองพาหะของโรคทางพันธุกรรม ภายใต้แบรนด์ “VISTA”

– การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ (Infectious Related Testing Service) ได้แก่ การตรจจหาเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19, การตรวจหาเอนติเจนของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 แบบ ATK, การตรวจหาเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ,การตรวจกาเชื้อก่อโรคมะเร็งปากมดลูกจากชุดเก็บสิ่งตรวจด้วยตนเอง

– การตรวจคัดกรองอื่นๆ (Other Testing Service) ได้แก่ การตรวจคัดกรองยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง (Cancer Related Testing) ภายใต้แบรนด์ “COLOTECT”, ตรวจวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพและการเกิดโรคต่างๆ ภายใต้แบรนด์ “BGI-Xome”, การถอดรหัสพันธุกรรมเฉพาะบุคคลอย่างละเอียด ภายใต้แบรนด์ “DNALL” เพื่อนำข้อมูลรหัสทางพันธุกรรมมาวิเคราะห์ในด้านต่างๆ เช่น การพยากรณ์ความเสี่ยงของโรคทางพันธุกรรม และการวางแผนการใช้ชีวิตประจำวัน , การตรวจคัดกรองสำหรับทารกแรกเกิด ภายใต้แบรนด์ “NOVA”

– การให้บริการงานด้านเทคโนโลยี (Tech Solution Service) เพื่อให้บริการแก่นักวิจัยในโครงการต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์และด้านอื่นๆ ของสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

2.การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งบริษัทนำเข้าผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายให้ลูกค้าเพิ่มเติม ได้แก่ ชุดตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด-19 ทั้งชนิดที่เป็นน้ำยาสกัดสารพันธุกรรมของไวรัส น้ำยาที่ใช้ตรวจ Real time-PCR สำหรับตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส SARS-Cov-2 และชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบครบวงจร เป็นต้น รวมทั้งในอนาคต จะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการถอดรหัสทางพันธุกรรมเฉพาะบุคคลอย่างละเอียด ตามคำแนะนำของแพทย์

กลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ โรงพยาบาล คลีนิคเอกชน โรงเรียนแพทย์ที่ทำวิจัยจีโนม

บริษัทมีสัดส่วนรายได้หลักจากธุรกิจการให้บริการ 85% ในปัจจุบัน โดยการคัดกรองของความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดา ภายใต้แบรนด์ “NIFTY” มีแนวโน้มอัตราเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 11.73% ตั้งแต่จัดตั้งบริษัทในปี 62 ส่วนธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นมีสัดส่วน 15%

นอกจากนี้ โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการวิจัยด้านสุขภาพของภาครัฐที่มีการรวบรวมและสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่ของคนไทย โดยดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมทั่วจีโนมของประชากรไทย จำนวน 50,000 ราย ในช่วงเวลา 5 ปี (2563-2567) ซึ่งโครงการนี้ได้นำแพลตฟอร์มของ BKGI มาใช้ในการดำเนินการทำ Big Data

สำหรับผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกปี 66 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมด้านอนามัยเจริญพันธุ์ จำนวน 157.59 ล้านบาท คิดเป็น 84.06% ของรายได้จากการให้บริการ เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตราเติบโต 31.71% เนื่องจากในปี 65 ได้มีการทำการตลาดเกี่ยวกับการบริการมากขึ้น ส่งผลให้เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดรายได้เติบโตขึ้นจากเดิม โดยในงวด 9 เดือนแรกของปี 66 บริษัทมีกำไรสุทธิ 25.51 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 13.29%

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ BKGI ได้แก่ BGI Health (HK) ถือ 51% หลัง IPO จะลดเหลือ 37.40% นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ถือ 16.67% จะเหลือ 12.22% กลุ่มนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร จาก 10.54% เหลือ 8%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 67)

Tags: , , ,