นายพชร ธนวงศ์เกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป [BKA] เปิดเผยว่า บริษัทจะนำเม็ดเงินที่ได้รับจากการระดมทุนผ่านเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 108 ล้านบาทไปใช้หมุนเวียนและต่อยอดเพื่อขยายพอร์ตบ้านมือสองที่นำมาปรับปรุงเพื่อขายต่อ (Flipping) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบ้านมือสองที่มีศักยภาพจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) มีทรัพย์สินรอการขาย (NPA) อยู่ในระบบจำนวนมาก
บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับ AMC ราว 6-7 ราย โดยเฉพาะ AMC เจ้าใหญ่สุดในตลาดที่มี NPA จำนวนมาก เพื่อขอปรับเงื่อนไขในการเข้าซื้อ จากเดิมที่ต้องจ่ายเงินค่าบ้านทั้งจำนวน มาเป็นการจ่ายเป็นเงินมัดจำแล้วนำไปรีโนเวทเพื่อขาย ซึ่งจะทำให้บริษัทมีต้นทุนในการดำเนินการลดลง สามารถเข้าซื้อทรัพย์ NPA ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คาดว่าบริษัทจะเข้าลงทุนซื้อ NPA จาก AMC ได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 70-80 หลังต่อปี
บริษัทคาดว่าจะช่วยทำให้สามารถเจาะตลาดในพื้นที่กรุงเทพชั้นในเพิ่มขึ้น ภายใต้การมุ่งเน้นสินค้าบ้านเดี่ยวมือสองตกแต่งใหม่ที่ระดับราคาตั้งแต่ 5-10 ล้านบาทเป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีดีมานด์สูง มีความมั่นคงทางการเงิน และมี Rejection Rate อยู่ในระดับต่ำ ทำให้บริษัทมีโอกาสสร้างอัตราการเติบโตต่อเนื่อง สอดรับกับการตั้งเป้ารายได้รวมที่บริษัทตั้งไว้ว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15-20% ต่อปี และจะเริ่มเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่ปี 69 เป็นต้นไป
“มองว่าปัจจุบันซัพพลายที่น่าสนใจยังมีอีกมากที่รอให้ BKA เข้าไปให้บริการ เนื่องจากลูกค้าในกลุ่ม AMC ที่มีสินค้า NPA ในมือที่รอการขายมีอยู่เป็นกว่าแสนล้านบาท และยังรอให้ BKA เข้าไปบริหารจัดการให้ในรูปแบบให้บริการ รับฝากขาย ซ่อมแซม ปรับปรุง ทำการตลาด และขายให้แบบครบวงจร ดังนั้นจากช่องว่างที่ยังมีอยู่ทำให้ BKA สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
ทั้งนี้ BKA วางกลยุทธ์สร้างการเติบโตผ่านการใช้ 2 กลยุทธ์หลัก คือ 1.การขยายพอร์ต ในฝั่งกรุงเทพตะวันตก (นนทบุรี) ซึ่งเป็นโซนหลักที่บริษัทมีความชำนาญ และ 2.การขยายพอร์ตเข้าเมืองกรุงเทพมากขึ้น อาทิ โซนลาดพร้าว, บางกะปิ, รามคำแหง และสวนหลวง เป็นต้น เนื่องจากเชื่อว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีกำลังซื้อสูง ดีมานด์เพิ่มขึ้น และยังถือเป็นการกระจายพอร์ตรายได้ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่รอบกรุงเทพฯ
นายพชร ยังเปิดเผยว่า บริษัทมองทิศทางการขยายธุรกิจในอนาคต 3-5 ปีในทุกมิติ ด้านหนึ่งจะต่อยอดธุรกิจขายบ้านมือสองไปสู่การให้บริการเรื่องบ้านครบวงจร จากเดิมทีขายบ้านเปล่า ก็อาจมีบริการตกแต่ง ติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ต่อเติม จัดสวน ติดตั้งโซลาร์รูฟและจุดชาร์ตรถไฟฟ้า ระบบสมาร์ทโฮม เพื่อช่วยยกระดับอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ให้สูงขึ้นจากงานขายบ้าน
พร้อมทั้งมองโอกาสขยายไปสู่การปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากบ้านเดี่ยว เช่น ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ เนื่องจากการขยายเข้าสู่เขตเมืองชั้นในน่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจในด้านนี้ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันอาคารพาณิชย์มีความต้องการปรับปรุงจากการเปิดร้านค้าไปใข้งานในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ทำโรงแรมขนาดเล็ก เป็นต้น
นายพชร กลาวว่า ธุรกิจบ้านมือสองเป็นธุรกิจที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี บ้านมือสองยังขายดีอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นราคาที่กลุ่มลูกค้าที่อยากมีบ้านสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในปี 67 ยอดโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสอง (อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC) สำหรับกลุ่มบ้านระดับราคา 3-7.5 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 20% ซึ่งเติบโตสูงกว่าบ้านใหม่มือหนึ่ง และยังมีโอกาสเติบโตเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับ สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการจากกลุ่มคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจซื้อ หันกลับมาสนใจโครงการประเภทบ้านแนวราบมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับ BKA ที่เห็นทิศทางการเติบโตธุรกิจบ้านแนวราบ ซึ่งจะได้รับอานิสงส์ในไตรมาส 2/68 เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทเร่งพัฒนา Platform เพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านเทคโนโลยีระบบเสมือนจริง (Virtual Reality) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตอบโจทย์การค้นหาข้อมูลให้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านได้เห็นภาพบ้านเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งแผนดังกล่าวจะเริ่มมีความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทั้งนี้หากแผนการพัฒนา Platform ดำเนินการจะสามารถผลักดันให้บริษัทต่อยอดไปสู่ธุรกิจ Property Technology (Prop Tech) เป็นรายแรกๆ ของกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BKA กล่าวตอกย้ำว่า Business Model ธุรกิจของ BKA ไม่ใช่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง แต่เป็นธุรกิจการให้บริการปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อขาย “ธุรกิจบ้านแต่ง” หรือ “Flipping” ซึ่งรูปแบบธุรกิจเป็นการวางเงินประกัน เพื่อปรับปรุง และขายบ้าน โดยไม่ต้องลงทุนซื้อบ้านทั้งหลัง ทำให้บริษัทมีส่วนต่างของผลตอบแทน และมาร์จิ้นสูง เมื่อเทียบกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องลงทุนตั้งแต่การซื้อที่ดินและก่อสร้าง ซึ่งผลประกอบการไตรมาส 1/68 น่าจะออกมาดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/67
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 68)
Tags: BKA, บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป, พชร ธนวงศ์เกษม, หุ้นไทย