BGRIM เจาะช่องขยายลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐ จัดงบ 1-1.5 หมื่นล้านปีนี้กวาด PPA เข้าพอร์ต 600-800 MW

นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืนและสายงานธุรกิจในประเทศไทยและมาเลเซีย บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาขยายการลงทุนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ประเภทไฮบริด ทั้งโซลาร์และพลังงานน้ำ โดยเริ่มแรกจะเข้าไปลงทุนในรูปแบบแพลตฟอร์มโครงการขนาดเล็ก ก่อนจะต่อยอดขยายโครงการอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพิ่มขึ้นราว 600-800 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นโครงการที่ก่อสร้างใหม่ (Greenfield) และเข้าลงทุนในโครงการที่มีอยู่แล้ว (M&A) วางงบลงทุนราว 10,000-15,000 ล้านบาท จากแผน 5 ปีที่งบลงทุนตั้งไว้ 4.1 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการใหม่ และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างตามแผน

ปัจจุบัน BGRIM อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาโครงการทั้งในประเทศไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อิตาลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำลังการผลิตติดตั้งและเปิดดำเนินการ (COD) แล้วรวม 3,970 เมกะวัตต์ เมื่อรวมโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาอีก 12 โครงการ จะมีกำลังการผลิตรวมเป็น 4,623 เมกะวัตต์

นายนพเดช กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าเติบโตของแต่ละธุรกิจ โดยเฉพาะ 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจพลังงาน เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ระยะยาว “GreenLeap-Global and Green” โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 50% ในปี 73 จากเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ทั้งจากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนา และจะก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Carbon Emissions ภายในปี 93 หรือ คศ. 2050

ปัจจุบัน BGRIM มีสายธุรกิจหลัก 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. พลังงาน 2. อุตสาหกรรม 3. สุขภาพ 4. เทคโนโลยีดิจิตอล 5. ไลฟ์สไตล์ เป็นตัวแทนสินค้าแฟชั่นหลายกลุ่ม และ 6. อสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง BGRIM ในวันนี้ก้าวข้ามการแข่งขันในประเทศสู่การเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลก โดยมุ่งกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ และกำหนดทิศทางการลงทุนของบี.กริม ซึ่งจะเน้นไปที่ค่านิยมหลัก 4 ประการ (4Ps Core Values) 1. ความร่วมมือกัน (Partnership) 2. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Pioneering Spirit) 3. การมีทัศนคติที่ดี (Positivity) และ 4. ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)

สำหรับทิศทางธุรกิจในปีนี้ บริษัทคาดว่ากำไรจะเติบโตได้ราว 10-15% ตามกำลังการผลิตใหม่ที่จะมีเข้ามาราว 300 เมกะวัตต์ (MW) ทั้งจากโครงการโซลาร์รูฟท็อป, โซลาร์ลอยน้ำ และโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ แม้ว่าต้นทุนราคาก๊าซจะสูงขึ้น

ทั้งนี้ แผนการนำเข้าก๊าซ LNG คาดหวังจะนำเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังราว 5-7 หมื่นตัน ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับซัพลลายเออร์ ที่สหรัฐและแอฟริกาเพื่อทำสัญญาระยะยาวในราคาที่ถูก เบื้องต้นจะใช้รองรับโรงไฟฟ้าของ BGRIM จำนวน 23 แห่งก่อน ระหว่างนี้คงต้องรอให้ บมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ (Pool Manager) สรุปเงื่อนไขอีกครั้งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในครึ่งปีแรก

ส่วนธุรกิจระบบปรับอากาศแคเรียร์ที่ขณะนี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจระบบปรับอากาศในประเทศไทย จากการเดินหน้าสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนจากพันธมิตรตัวแทนจำหน่าย รวมถึงการเปิดตัวนวัตกรรมและบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัยที่สามารถเชื่อมต่อระบบ IoT ระบบปรับอากาศแบบ VRF สำหรับอาคาร หรือระบบบริการหลังการขายที่สามารถแจ้งการทำงานผิดปกติโดยอัตโนมัติ เป็นต้น

นอกจากนี้ BGRIM ยังมีการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยชูจุดเด่นเรื่องการบริการแบบครบวงจรและรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย พร้อมทางเลือกในการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในปี 66 บริษัทได้ติดตั้งประมาณ 70 หัวชาร์จให้แก่หลากหลายผู้ประกอบการ และปีนี้มีแผนขยายติดตั้งเพิ่มเติมกว่า 100 หัวชาร์จ

ขณะเดียวกันยังมีการขยายธุรกิจไปสู่การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์แบบ EPC ซึ่งเป็นการให้บริการติดตั้งแบบเบ็ดเสร็จ หรือ Turn-Key ตั้งแต่การออกแบบ ติดตั้ง ขออนุญาต จนจบกระบวนการ และมีการพัฒนาโซลูชันเพื่อสุขภาพที่ดีแก่ผู้ใช้อาคาร หรือ Healthy Living Solution ด้วยการติดตั้งเทคโนโลยีระบบไฟ UV-C ยับยั้งเชื้อโรคในระบบปรับอากาศ ซึ่งมีการติดตั้งในห้างสรรพสินค้าเครือเซ็นทรัลแล้วกว่า 6 แห่ง และมีแผนขยายไปยังสถานที่ต่างๆ ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ในระยะยาวถึง 3 เท่าภายในปี 73

บริษัทยังกลับมาสานต่อธุรกิจฐานรากภายใต้ “บี.กริม ฟาร์มา” ส่งเสริมการเข้าถึงยารักษาโรคและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ป่วย เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมให้ดีขึ้น ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หลากหลาย ได้แก่ ยา และ เวชภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด 2. กลุ่มยารักษาโรคระบบประสาทและจิตเวช 3. กลุ่มยารักษาโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ 4. กลุ่มยารักษาโรคระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เวชสำอาง และเครื่องมือแพทย์ โดยตั้งเป้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้ 4.5 ล้านคน ในอนาคต จากปัจจุบันช่วยได้มากกว่า 3 ล้านคนแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 67)

Tags: , , ,